ตร. จัด 31 กองร้อย รับ 'ม็อบ' สร้างหมู่บ้านทะลุฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
บช.น. เตือน ม็อบ ร่วมกิจกรรมชุมนุม ผิดกฎหมาย เสี่ยงแพร่เชื้อโรค ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค
13 มี.ค.2564 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. แถลงความพร้อมรับม็อบเดินทะลุฟ้าV2 ว่า เนื่องด้วยมีการประกาศจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี โพสเชิญชวนผ่านโซเชียลมีเดีย ให้มารวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 14.00 น. ก่อนเคลื่อนขบวนมายังทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาชีวะไล่เผด็จการ ประหาศรวมตัวกันบริเวณที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และจะเคลื่อนมาที่ทำเนียบรัฐบาลเช่นกัน
บช.น. ขอแจ้งเตือนประชาชนที่จะมาร่วมชุมนุมในวัน-เวลา ดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากกรุงเทพ เป็นพื้นที่ห้ามชุมนุมมั่วสุม อันเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรค การชักชวนให้มาร่วมชุมนุมด้วยวิธีการหนึ่งวิธีการใด ทั้งผู้ชักชวน และผู้มาร่วมชุมนุม ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค
บช.น. ได้แบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ 1.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มอบหมาย พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 รับผิดชอบ 2.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มอบ พ.ต.อ.บวรภพ สุนทรเลขา ผกก.สน.พญาไท รับผิดชอบ และ3.พื้นที่โดยรอบทำเนียบ ถนนราชดำเนิน และเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ มอบหมาย พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ปราศรัย จิตตสนธิ ผบก.น.1 และพล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผบก.อคฝ. รับผิดชอบ หากผู้ชุมนุมจะเข้า 3 จุด นี้ ตำรวจจะมีการตั้งจุดตรวจค้นสิ่งผิดกฎหมาย หากพบบุคคลต้องสงสัย หรือมีพฤติกรรมน่าสงสัย ตำรวจต้องตรวจค้นตามกฎหมาย
สำหรับการรวมตัวทุกจุด รวมทั้งการเคลื่อนขบวน ตำรวจจะแจ้งเตือนทุกระยะ และควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนคนอื่นๆ ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมยืนยันจะพักค้างแรมที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า หากดูพฤติกรรม และการข่าวของผู้ชุมนุมมีความเสี่ยงเกิดอันตรายลุกลาม ตำรวจมีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย แม้วันนี้ทางผู้จัดบอกว่างดใช้ความรุนแรง แต่เป็นที่ทราบว่าทุกครั้งที่ผ่านมาก็จะมีการแจ้งว่ามีบางกลุ่มไม่เข้าร่วมชุมนุม แต่ตามข้อเท็จจริงก็เข้าร่วมทุกครั้ง และมักก่อเหตุการณ์ความเดือดร้อนทุกครั้ง
ถามว่าการข่าววันนี้มีอะไรน่าเป็นห่วงหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า การชุมนุมแต่ละครั้งที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมมักก่อให้เกิดความวุ่นวาย ก่อความรนแรง และความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในบ้านเมือง อย่างไรก็ตามตำรวจมีมาตรการป้องกัน รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว
มีรายงานว่า บช.น. ได้เตรียมชุดควบคุมฝูงชน(คฝ.) ไว้รับสถานการณ์การชุมนุมทั้งสิ้น 31 กองร้อย ,รถฉีดน้ำ 6 คัน, รถสำรองน้ำ 6 คัน, รถควบคุมผู้ต้องหาขนาดใหญ่ 6 คัน, รถติดตั้งเครื่องขยายเสียง พร้อมพลขับ 4 คัน, และรถพยาบาล 2 คัน