'ปชป.' ลุยต่อเร่งคุยวิปรัฐบาล ดันแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ล็อคเป้า ม.256

'ปชป.' ลุยต่อเร่งคุยวิปรัฐบาล ดันแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ล็อคเป้า ม.256

"จุรินทร์" ย้ำจุดยืนไม่เปลี่ยน เตรียมคุยวิปรัฐบาล ลุยแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ล็อกเป้า ม.256 ลั่นเดินหน้าโหวตผ่านกฎหมายประชามติ

วันที่ 18 มี.. ที่รัฐสภานายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สำหรับการในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถแล้ว เพิ่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ ซึ่งการโหวตวาระ 3 ประชาธิปัตย์ได้เดินหน้าต่อไปชัดเจนตามสิ่งที่เราได้พูดไว้ในการลงมติโหวตให้ความเห็นชอบ แต่ว่าเสียงไม่พอก็ต้องตกไป แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อไปว่าจะแก้รัฐธรรมนูญในรูปแบบไหน เพราะเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไป แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์คงยืนในจุดเดิม เพื่อต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เดินหน้าให้ประเทศนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอนาคตการเมืองของประเทศ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์คิดได้เร็วๆ ขณะนี้ ต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอุปสรรคสำคัญในกุญแจดอกใหญ่สองประตูประชาธิปไตยไว้ไม่ให้สามารถเปิดออกไปได้หรือว่าเปิดยากมากคือในมาตรา 256 แก้ไขในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีวิธีการที่กำหนดไว้ซับซ้อนมาก อาทิ นอกเหนือจากการใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภาแล้ว ในจำนวนเสียงเกิรกว่ากึ่งหนึ่งต้องเป็นเสียงสมาชิกมากกว่า 1 ใน 3 และต้องมีเสียงฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้สุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก ดังนั้นหากไม่มีการแก้ไขมาตรา 256 ประตูประชาธิปไตยก็จะเปิดออกได้ยาก เพราะจะนำไปสู่การแก้ไขในมาตราอื่นๆ เกือบจะเรียกว่าไม่ได้เลยหรือว่ายากยิ่ง ทำให้ความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์ต้องกลับมายืนที่จุดเดิม รายมาตรา 256

"วันนี้พรรคประชาธิปัตย์มีเสียงประมาณ 50 เสียง ไม่ถึง 100 เสียงในการยื่นแก้ไขจึงจำเป็นที่ต้องร่วมกับพรรคการเมืองอื่นในการยื่นญัตตินี้ต่อไป ซึ่งต้องมีการหารือกันอย่างน้อยที่สุดก็มาจากในส่วนของวิปรัฐบาล จะดำเนินการอย่างไร ส่วนในมาตราอื่นต้องมีการหารือกันว่ามีมาตราไหนบ้าง อย่างน้อยที่สุดกุญแจดอกใหญ่จะต้องได้รับการสะเดาะออกไปก่อน"นายจุรินทร์ กล่าว

161604135114

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลนั้น ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงถ้าตราบใดที่รัฐบาลยังไม่เปลี่ยนนโยบายในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผูกพันไว้ต่อรัฐสภา พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาลในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เดินหน้าต่อไปให้ได้ ส่วนที่พรรคการเมืองอื่นก็เป็นดุลยพินิจในการตัดสินใจในการลงมติเมื่อวันที่ 17 มี..ที่ผ่านมา ส่วนการทบทวนท่าทีการร่วมรัฐบาลนั้น ตนในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบคนเดียวไม่ได้ เพราะว่าไม่มีอำนาจ พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีคนใดคนหนึ่งสามารถตอบคนเดียวได้ นาทีนี้ที่คิดต่อไปเรื่องรัฐธรรมนูญจะต้องเดินหน้ากับพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปด้วยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

"ประชาธิปัตย์ใครคนใดคนหนึ่งตอบไม่ได้บางเรื่องเป็นเรื่องอนาคตไม่สามารถตอบเดี๋ยวนี้ได้ แต่ตราบใดที่พรรคประชาธิปัตย์ยังทำหน้าที่ในรัฐบาลไทย เราจะทำหน้าที่ในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปให้สำเร็จ ส่วนหากมีกระแสสังคมเรียกร้องมานั้น ก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของพรรค เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคการเมืองของคนใดคนหนึ่งก็ต้องไปตามกฎเกณฑ์กติกาของพรรค"นายจุรินทร์ กล่าว

ผู้สื่อถามถึงกระแสข่าวการยุบสภา นายจุรินทร์ กล่าวว่า การยุบสภาเป็นกลไกหนึ่งของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะยุบสภาได้ แต่ว่าถ้ามีการยุบสภาในขณะนี้จะย้อนกลับไปว่า เมื่อมีการเลือกตั้งสังคมเคยมีความเห็นว่า หากมีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ก็จะย้อนไปสู่การใช้กติกาของรัฐธรรมนูญเดิม แล้วการเมืองอาจจะย้อนกลับมาที่เดิมแต่การยุบสภาถือเป็นกลไกหนึ่งก็ต้องไปถามนายกรัฐมนตรี

"พรรคประชาธิปัตย์ยังพยายามจะผลักดันกฎหมายประชามติผ่านที่ประชุมร่วมของรัฐสภาให้ได้ เพราะเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญเพื่อใช้ในการดำเนินการต่อไปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะบางมาตราระบุไว้ว่าถ้าจะมีการแก้ไขมาตรานั้น เช่น มาตรา 256 (8) ก็มีความจำเป็นต้องนำไปทำประชามติ ถ้าไม่มีกฎหมายประชามติ การแก้รัฐธรรมนูญที่ทำมาจะติดหล่มที่ไม่มีกฎหมายประชามติอีก ดังนั้นก็ต้องผ่านกฎหมายประชามติไว้ก่อนถึงแม้รัฐธรรมนูญจะยังไม่ผ่านก็ตาม"นายจุรินทร์ ระบุ