พลิกเกม 'รายมาตรา' 'ปชป.' ทวงดีลแก้ รธน.
เมื่อ "องคาพยพ" ที่เหนือการควบคุม กำลังท้าทาย "เงื่อนไข" ประชาธิปัตย์ที่ให้ไว้จะถูกคว่ำไปด้วยหรือไม่
ภายหลังผลลงมติการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … จะมีอันเป็นไปจากการโหวตวาระ 3 เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ไม่ผ่านความเห็นชอบต่อที่ประชุมรัฐสภา กำลังเป็นชนวนร้อนทางการเมืองระลอกใหม่อีกครั้ง
จากจุดเริ่มต้นที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระแรกเมื่อวันที่ 18 พ.ย.2563 เป็นเวลา 4 เดือนเต็มที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง จนมาถึง "วาระสุดท้าย" ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกคว่ำลงเมื่อวันที่ 17 มี.ค. เริ่มมีเสียงเรียกร้องกดดันไปถึง "จุดยืน" ประชาธิปัตย์เคยประกาศไว้ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2562 ในช่วงการเดินหน้ารวมเสียงพรรคการเมืองตั้งรัฐบาล
ขณะนั้น "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแถลงมติที่ประชุมครั้งสำคัญเพื่อ "ตอบรับ" เข้าร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ บน 3 เงื่อนไขสำคัญ โดยเฉพาะต้องบรรจุให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พุ่งเป้าไปที่"ปลดล็อค" มาตรา 256 ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
แต่จากบทบัญญัติเรื่องการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 (2) ต้องใช้เสียง ส.ส.หนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่หรือประมาณ 100 คน แต่ด้วยเสียงในมือของประชาธิปัตย์หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 มีเพียง 52 ที่นั่ง ทำให้ประชาธิปัตย์ตัดสินใจผนึกเสียงกับพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล แลกกับ "พันธสัญญา" แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าชื่อเสนอญัตติให้ครบหลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ
วรรคทองสำคัญที่ "จุรินทร์" ประกาศไว้ต่อการตัดสินใจของประชาธิปัตย์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของประเทศมากกว่าประโยชน์ของพรรค
แต่เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกคว่ำลง กำลังบีบไปถึงจุดยืนของพรรค ที่มองประโยชน์ของประเทศนั้นจะทบทวนท่าทีกับรัฐบาลหรือไม่
เป็นที่มาของการเคลื่อนไหวระดับแกนนำประชาธิปัตย์ เริ่มปรับแผนแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังการลงมติ 17 มี.ค. เปลี่ยนเส้นทางเป็น "รายมาตรา" และเตรียมพูดคุยกับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เพื่อทวงความจำใน "เงื่อนไข" ดีลเข้าร่วมรัฐบาล ต่อคำสัญญาแก้รัฐธรรมนูญ
จากสัญญาณเข้มข้นที่ส่งมาจาก "ชินวรณ์ บุณยเกียรติ" ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาลออกระบุหลังการลงมติวาระ 3 ว่า ถ้ายึดนโยบาย "ทำงานร่วมกัน" ให้มาคิดหลักสำคัญเสนอแก้ไขเป็น "รายมาตรา" เพื่อผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เดินหน้าต่อไป จากสิ่งที่เคยประกาศไว้ให้เป็นนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล จากบันไดขั้นแรกเพื่อสะเดาะกุญแจในมาตรา256
"ยามเฝ้าประตูเขาเข้มแข็งก็ต้องอาศัยประชาชน เพราะสลักจะอยู่ต่อไป เนื่องจากเจตนารมณ์ต้องการคุ้มครองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยฝีมือของท่านมีชัย (ฤชุพันธุ์อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) นอกจากใส่สลักแล้วก็ใส่กุญแจหลายดอก"ชินวรณ์ ระบุ
ไม่ใช่แค่มาตรา 256 เพียงอย่างเดียว แต่เป้าแก้ไข "รายมาตรา" ที่ประชาธิปัตย์จะกลับมาจุดประเด็นยังมีเรื่อง สิทธิเสรีภาพประชาชนสิทธิชุมชน หรือสิทธิผู้ด้อยโอกาส ถูกบัญญัติไว้ในหมวด 3 เรื่อง "สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย" ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งส่วนใหญ่มีเนื้อหาสำคัญ เช่น มาตรา 26 ว่าด้วยการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
มาตรา 34 ว่าด้วย บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น หรือมาตรา 41 และมาตรา 43 ว่าด้วยสิทธิของบุคคลและชุมชนในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐ หรือเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดําเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือชุมชน
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง "กระจายอำนาจ" ซึ่งมีถูกบัญญัติไว้ครั้งแรกตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2511 ในเรื่องการปกครองท้องถิ่น จนมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังบัญญัติไว้ในหมวด 14 ตั้งแต่มาตรา 249 จนถึงมาตรา 254 มีเนื้อหาส่วนใหญ่ระบุถึงการให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องกับ "ท้องถิ่น" หรืออำนาจของประชาชนในการเสนอถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้
"ประชาธิปัตย์" จะผลักดันแก้ไขเรื่องระบบการเลือกตั้ง “จัดสรรปันส่วนผสม” เป็นประเด็นที่ "จุรินทร์" เคยประกาศว่าระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับนี้นำไปสู่ผลการเลือกตั้งแบบเบี้ยหัวแตก ทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพ ที่สำคัญในเรื่องอำนาจหน้าที่วุฒิสภา ซึ่งอยู่ใน "มาตรา 272" นั้นต้องจำกัดอำนาจและบทบาทเนื่องจากวุฒิสมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง
การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ "รายมาตรา" ยังอยู่ในเส้นทางที่ "ประชาธิปัตย์" ยังเชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐจะไม่ผิดพันธสัญญาที่ให้ไว้ต่อการเข้าร่วมรัฐบาล แต่เมื่อทั้ง "องคาพยพ" ที่เป็นกำแพงสูงให้รัฐบาลนั้น กำลังท้าทาย "เงื่อนไข" ประชาธิปัตย์ที่ให้ไว้จะถูกคว่ำไปด้วยหรือไม่.