โยนหิน‘ยุบสภา’ ‘ไพ่รัฐบาล’ มีแต่ได้กับได้
ไม่ว่าจะเป็นการโยนหินถามทาง หรือจะเป็นการส่งสัญญาณอะไรก็แล้วแต่ แต่การ "ยุบสภา" ณ เวลานี้รัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐมีแต่ได้กับได้
ดูเหมือนจะมีความพยายามในการโยนหินถามทางเกี่ยวกับประเด็นการ “ยุบสภา” เพื่อล้างไพ่การเมือง หลังเกิดแรงกระเพื่อมทั้งกรณีคว่ำร่างรัฐธรรมนูญกลางดึกของวันที่17มี.ค. ทำให้กระบวนการต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่วาระแรกด้วยการแก้ไขรายมาตรา
ต่อเนื่องเนื่องมาจนช่วงค่ำของวันที่18มี.ค.ที่รัฐสภามีการเลื่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ หลังภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ผนึกเสียงจากฝ่ายค้านเปิดเกมดัดหลังโหวตค่ำร่างพ.ร.บ.มาตรา9 ตามที่รัฐบาลเสนอ
ไม่เว้นแม้แต่ “วันชัย สอนศิริ” ส.ว. ฐานะโฆษก คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่ยก“ธรรมเนียมปฏิบัติ” ยุครัฐบาลของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เปรียบเทียบในกรณีของร่างพ.ร.บ.ประชามติ ที่มีการประเมินว่าสุ่มเสี่ยงที่จะมีการโหวตคว่ำในวาระ3 ที่อาจถึงขั้นที่รัฐบาลต้อง “ยุบสภา” หรือ “ลาออก”
การโยนหิน “ยุบสภา” ครั้งนี้มีการวิเคราะห์ไปถึงสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นแรงกระเพื่อมภายในขั้วรัฐบาล รวมไปถึงการ “ขู่ถอนตัว” ของพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์หลังศึกโหวตรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกมองว่าเป็นเกมหักหลัง
ตรงนี้เองที่อาจทำให้ “รัฐบาล” และ “พลังประชารัฐ” หยิบไพ่ยุบสภามาแแก้เกมบรรดาพรรคร่วมเพื่อให้สงบปากสงบคำ เพราะพรรคเหล่านั้นย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า หากมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ณ เวลานี้ทั้งยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับจะยิ่งไปเข้าทางพลังประชารัฐในการช่วงชิงความได้เปรียบจากกติกาที่มีอยู่ ดังที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่าเป็นกติกา “เพื่อพวกเขา” เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อยู่ยาวอีก1สมัย
ไม่ต่างไปจาก “ฝ่ายค้าน” โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ซึ่งเสียประโยชน์จากระบบเลือกตั้ง “จัดสรรปันส่วนผสม” แบบเต็มๆชนิดไร้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในสภา เวลานี้พยายามปัดฝุ่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เคยถูกสภาคว่ำในวาระแรก เพื่อกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง2ใบซึ่งพรรคตัวเองได้ประโยชน์
ดังนั้นหากยุบสภา ณ เวลานี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการ“ปิดประตูตาย” ในการแก้ไขกติกาเพื่อให้พรรคได้กลับเข้าสู่สภาในฐานะรัฐบาลอีกครั้ง
แม้แต่“พรรคก้าวไกล” ซึ่งเป็นพรรคที่ได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้ง ณ ปัจจุบัน เวลานี้กลับต้องเผชิญปัญหาเสถียรภาพภายในพรรค จากปัญหางูเห่า รวมถึงกระแสพรรค ดังนั้นแม้จะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ตามกติกาเก่าที่พรรคได้ประโยชน์ ก็ไม่ต่างอะไรกับการ “เตะหมูเข้าปากหมา” ส่งส.ส.พรรคไปให้พรรคร่วมรัฐบาลได้สมใจ
ดังนั้นเกมโยนหิน “ยุบสภา”เวลานี้จึงไม่ต่างอะไรกับเกมขู่ไปยังพรรคร่วมรัฐบาลกระทบชิ่งไปยังพรรคฝ่ายค้าน
หากย้อนกลับไปในอดีต ตลอด8ทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี2481 ประเทศไทยมีการยุบสภามาแล้วถึง13ครั้ง จำนวนนี้มีสาเหตุมาจาก ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและรัฐสภา 2 ครั้ง , เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจหรือเสร็จสิ้นภารกิจเฉพาะกิจ 3ครั้ง ,ความขัดแย้งภายในรัฐบาล 4ครั้ง,ความขัดแย้งระหว่างสภาด้วยกัน1ครั้ง, เกิดวิกฤติการเมือง3ครั้ง
ส่วนจะมีการยุบสภาครั้งที่14 เกิดขึ้นหรือไม่ คงต้องไปเดาใจ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหมซึ่งมีอำนาจเต็มในเรื่องนี้ ในอนาคตอะไรก็เกิดขึ้นได้จากที่เป็นเพียงเกมขู่ สุดท้ายการยุบสภาอาจกลายเป็นไพ่ในสุดท้ายที่ถูกนำมาใช้
การออกมาพูดถึงเรื่องนี้ในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการโยนหินถามทาง หรือจะเป็นการส่งสัญญาณอะไรก็แล้วแต่ แต่ที่แน่ๆการ "ยุบสภา" ณ เวลานี้รัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐมีแต่ได้กับได้!