'ศึกใน' คนกันเอง ตัวเร่ง 'สภาฯ' ไปไม่รอด

'ศึกใน' คนกันเอง ตัวเร่ง 'สภาฯ' ไปไม่รอด

ต้องยอมรับว่า "ภูมิใจไทย" มีปัญหากับการทำงานนร่วมกับ "พลังประชารัฐ" ตั้งแต่ครั้งที่ "ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์" ลงมติไม่ไว้วางใจ "รมว.คมนาคม" ลามมาถึง คว่ำร่างรัฐธรรมนูญวาระสาม และล่าสุด การเตรียมยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา

       ภาพความไม่ลงรอยกันของ “2 บิ๊ก” จาก 2 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล

       พรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล กับ พรรคภูมิใจไทย พรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 1

       ระหว่าง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ “ชาดา ไทยเศรษฐ์“ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย


       ด้วยชนวนเหตุจากการลงมติในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม เพื่อให้เข้าสู่ระเบียบวาระการลงมติวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่ “ไพบูลย์” ชิงเสนอ ทั้งที่รัฐสภาอยู่ระหว่างหารอดให้กับ “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีสาระที่ส่งผลต่อการล้มเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวางแนวปฏิบัติว่า ต้องผ่านประชามติถามประชาชนก่อน

       การอภิปรายเพื่อเสนอทางรอดในชั้น “แจ้งเพื่อทราบ” กับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่กินเวลานาน 9 ชั่วโมง ได้ข้อเสนอที่มีแนวโน้มว่าให้ “รัฐสภาชลอการลงมติ เพื่อถามความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง” ตามญัตติที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอ

161664195819

       ในขณะนั้นเอง ได้มีท่าทีชัดเจนจาก “พรรคภูมิใจไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา-และพรรคร่วมฝ่ายค้าน” ที่สนับสนุน และมีแนวโน้มที่จะชนะ เมื่อสู้กับญัตติที่ 2 ส.ว. “สมชาย แสวงการ" และ “เสรี สุวรรณภานนท์” เสนอญัตติ "ให้ตีตก”

       

       การชิงเสนอญัตติเพื่อให้เข้าสู่เรื่องตามระเบียบวาระมีเสียงสนับสนุน 474 เสียง ต่อ 127 เสียง งดออกเสียง 39 เสียง และไม่ลงคะแนน 5 เสียง ทำให้ “ชาดา” ในฐานะ “บิ๊ก” พรรคภูมิใจไทยที่โหวตไม่เห็นด้วยฉุนหนัก ถึงขั้นใช้ถ้อยคำตำหนิคนที่เป็นต้นเหตุของเรื่องอย่างรุนแรงว่า เป็นพวกศรีธนญชัย ฉ้อฉล และโกหกปลิ้นปล้อน พร้อมทั้งประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมการลงมติวาระ 3

       หากตรวจทานผลการลงมติสนับสนุนให้เดินหน้าลงมติ ก็จะพบว่า “กลุ่มพรรคฝ่ายค้าน” ที่มีท่าทีช่วยหาทางรอดกลับ “เทเสียง” ให้

       จากปฏิกิริยาของ “ส.ส.ชาดา” กลายเป็นจุดตั้งต้นที่ “ส.ส.ไพบูลย์” เรียกร้องให้ “อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แสดงความรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้น และให้ดำเนินการตามมาตรฐาน ควบคุม ดูแลสมาชิกพรรคให้มีจริยธรรมและมารยาททางการเมือง รวมทั้งตรวจสอบพฤติกรรมหลังพา ส.ส.ภูมิใจไทย ยกพรรค “วอล์คเอาท์”จากที่ประชุม และการกล่าวคำพูดที่ไม่เหมาะสม

       ขณะที่ “ส.ส.ชาดา” ได้ตอบโต้เรื่องนี้ผ่านโซเชียลมีเดีย พร้อมตีแผ่ข้อมูลอีกด้านของกระบวนการ “สร้างแผนหลอกใช้เพื่อนยื้อเวลา รักษาอำนาจในตำแหน่ง"

161664202427

       ประเด็นร้อนเรื่องนี้ จากวันนั้นได้ส่งผลต่อการทำงานในรัฐสภาที่ไม่ราบรื่น เห็นได้ชัดจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 9 ที่พรรคภูมิใจไทยทั้งพรรคหนุนให้แก้ไขตามคำแปรญัตติของกรรมาธิการเสียงข้างน้อย เพื่อเพิ่มสิทธิให้ “รัฐสภาและประชาชน” เสนอเรื่องทำประชามติได้

       เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นถูกวิจารณ์ว่า “กฎหมายประชามติ อาจจบไม่สวย” และมีหางเลขถึง “รัฐบาล” ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นกฎหมายปฏิรูปฉบับสำคัญที่รัฐบาลเสนอ

       ประเด็นร้อนถัดมา คือการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ที่ “วิรัช รัตนเศรษฐ” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ บอกว่าจะไม่ยื่นรวมกับ “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา”

       แม้ “วิรัช” จะบอกว่า ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งที่ “แกนนำภูมิใจไทย” ฝังใจว่า “ถูกเพื่อนหลอกใช้”

       ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือสัญญาณที่สะท้อนว่า ศึกในของคนกันเอง กัดกร่อนความเป็นเอกภาพอย่างชัดเจน

161664195842

       ยังไม่นับรวมควันหลงจากการลงมติไม่ไว้วางใจ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ“ รมว.คมนาคม และแกนนำสำคัญของภูมิใจไทย จาก “ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์” ของพลังประชารัฐ ที่มีบทสรุป คือ “ไพบูลย์” ฐานะรองหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย ต้องยอมเฆี่ยนคนในพรรค เพื่อรักษาสัมพันธภาพของ “คนใหญ่ในรัฐบาล” ไว้

       ดังนั้นหากการเล่นเกมในสภาฯ โดยไม่คำนึงถึงหัวอก-หัวใจของ “เพื่อนร่วมรัฐบาล” อีก เชื่อแน่ว่าต่อให้พลังประชารัฐเป็นแกนนำเสียงข้างมากในสภาฯ แต่หากภูมิใจไทยจับมือประชาธิปัตย์เล่นเกมฟรีโหวต สภาฯ เสียงข้างมาก 275 เสียงก็อาจไปไม่รอด.