ครม.อนุมัติร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ผุด 'กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ' สำหรับลูกจ้างทุกประเภท

ครม.อนุมัติร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ผุด 'กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ' สำหรับลูกจ้างทุกประเภท

ครม.อนุมัติร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ผุด "กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ" สำหรับแรงงานในระบบทุกประเภท ทั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์กรมหาชน และพนักงานในรัฐวิสาหกิจ

ผู้สื่อขาวรายงานว่า วันนี้ (30 มี.ค.2564) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. วันที่ 30 มีนาคม 2564 ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ผู้สูงอายุ ที่คาดว่าในอนาคต ถ้านับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนไทยอายุ 60 ปี ถึงปีละ 1 ล้านคน และในปี 2576 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก คิดเป็นร้อยละ 28% ของประชาชนทั้งประเทศ ในขณะที่จำนวนเด็กที่เกิดใหม่ในปี 2562 มีจำนวนที่ลดลง เหลือเพียง 6.1 แสนคน นายกฯมีความกังวลอย่างมาก คือ คนไทยจะอยู่อย่างไรในวัยเกษียณถ้าไม่มีรายได้ จะทำอย่างไรให้มีความมั่นคงในบั่นปลายชีวิต มีเงินใช้อย่างเพียงพอ 

วันนี้ ครม.ได้อนุมัติในหลักการร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวกับข้องกับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ที่เป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติสำหรับแรงงานในระบบทุกประเภท หรือพูดง่ายๆ คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับภาคเอกชน 

1.ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ

ซึ่งมีสาระสำคัญคือ จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า กบช. ให้เป็นหน่วยงานของรัฐ และมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ

วัตถุประสงค์คือ ให้เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ ทั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์กรมหาชน และพนักงานในรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบการจ่ายบำเหน็จบำนาญ 

กองทุนนี้จะถือเป็นศูนย์กลางบูรณาการการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบบำเหน็จบำนาญด้วย ในสาระของกฎหมาย กำหนดให้ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่เกิน 60 ปี ที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องเป็นสมาชิกของ กบช. กำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินสมทบแต่ละฝ่าย โดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน 

เช่น ถ้าเป็นลูกจ้างปีที่ 1-3 ต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ปีที่ 4-6 ต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ถ้าปีที่ 10 เป็นต้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7-10 ของค่าจ้าง ถ้ากรณีที่ลูกจ้างเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ให้นายจ้างส่งเงินสมทบเพียงฝ่ายเดียว 

โดยการรับเงินจาก กบช.นี้ จะรับเงินเมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี สามารถเลือกได้ว่าจะเป็นบำเหน็จหรือบำนาญรายเดือนเป็นระยะเวลา 20 ปี 

2.ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ

ซึ่งจะเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำนโยบายแผนแม่บทและแนวทางการจัดระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมของประเทศ โดยคณะกรรมการประกอบด้วย 13 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ 

ในลำดับต่อไป ครม.ได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นจากกระทรวงแรงงาน สำนักงาน กพ. และ กพร. รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบการพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย