'สามัคคีประชาชน' จุดเริ่มใหม่ 'จตุพร' ปลุกมิตรร่วมรบ
สามัคคีประชาชน รวมกลุ่มไทยไม่ทน กับ ระบอบ "ประยุทธ์" นัดหมาย4เมษา เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อน จุดเริ่มของเรื่องนี้มาจาก "จตุพร พรหมพันธุ์" แต่ที่น่าสังเกต คือ "นปช.-เพื่อนเคยรบ" ทำไมไม่เอาด้วย?
ปรากฎการณ์ “สามัคคีประชาชน” ที่ นักไฮปาร์ค-นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหน้าเก่า ประกาศรวมตัวมวลชน ตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อกดดัน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ออกจากการบริหารประเทศ
กลุ่มนักเคลื่อนไหวนี้ มีตัวตั้งตัวตี คือ “จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.(แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) พร้อมด้วยแนวร่วม “พิภพ ธงไชย” อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยb อดีตแกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ “การุณ ใสงาม” อดีต ส.ว.บุรีรัมย์ ที่ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) รวมทั้ง “อดุลย์ เขียวบริบูรณ์” ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35
พวกเขาขึ้นเวทีเดียวกันเมื่อ 26 มีนาคม ใช้สโลแกนเปิดเวทีว่า “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” แม้ในงานจะมีเจ้าภาพ คือคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และ 30 องค์กรประชาธิปไตย แต่ในตอนท้ายไฮไลท์ คือการประกาศของ “จตุพร พรหมพันธุ์” นัดรวมกลุ่มในวันที่ 4 เมษายน ที่ “อนุสรณ์พฤษภาประชาธรรรม”
เป้าหมายของงานในวันที่ 4 เม.ย.นี้ “ประธาน นปช.”บอกว่า จะหาแนวร่วมเดียวกันจากกลุ่มที่เคยคิดต่าง เพื่อกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ และมีข้อเสนอขั้นต้นคือ กดดันให้ 3 พรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ถอนตัว
อย่างไรก็ดี ตามคำประกาศของ “กลุ่มสามัคคีประชาชน” มีความน่าสนใจอยู่ที่บุคคลที่มารวมตัวกัน ซึ่งในอดีต “พวกเขา” คือคนที่ต่างอุดมการณ์ทางการเมือง
ขณะเดียวกัน “จตุพร” ในฐานะแกนนำคนเสื้อแดง ก็ยังมีมวลชนของตนเองในนามกลุ่ม นปช. แต่เหตุสำคัญ ที่เขาไม่เรียกระดมพลคนเสื้อแดง ก็เป็นที่คาดหมายได้ว่า ระดับแกนนำอยู่ในสภาพ “แตกคอ”
เห็นได้ชัดจากสถานการณ์เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2564 ที่เพิ่งผ่านมา “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” เลขาฯ นปช. เพื่อนร่วมรบกับ "จตุพร” แถลงคืนสู่อิสรภาพ ซึ่งมีแกนนำ นปช. เข้าร่วม ทั้ง “ธิดา ถาวรเศรษฐ์" อดีตประธาน นปช. “ก่อแก้ว พิกุลทอง” และ "นพ.เหวง โตจิราการ” พวกเขาได้ตอบคำถามต่อการร่วมเรียกร้องกับ “อดีต ประธาน นปช.” ว่า “ไม่มีการชักชวนให้ร่วมเคลื่อนไหว" พร้อมทั้งยืนยันว่า "องค์กร นปช.ไม่เคยตั้งวงคุยกันเรื่องนี้”
อย่างไรก็ดี ข่าวจากวงในคนเสื้อแดง ระบุว่า การเคลื่อนไหวของ "จตุพร” ไม่ได้ชักชวนกลุ่มเพื่อนเก่า เพราะเขาได้จับมือกับกลุ่มใหม่ ที่เห็นคือ กลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 35 ดังนั้นการขับเคลื่อนของจตุพรจึงเชื่อว่า ไม่มีกองหนุนจากคนเสื้อแดง หรือฝั่งม็อบเยาวชนแน่นอน
มูลเหตุที่คนสีเสื้อเดียวกัน ไม่ชวนกัน มีมุมที่สะท้อนได้ว่า “จตุพร เปลี่ยนไป”
ท่าทีของ “จตุพร” ที่ผ่านมา ได้สร้างความกังขา นับตั้งแต่การประกาศหนุนขั้วการเมือง เป็นผู้ช่วยหาเสียงให้ "พรรคเพื่อชาติ” สนับสนุน “บุญเลิศ บูรณุปกรณ์” ชิงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เชียงใหม่ ซึ่งแข่งกับผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย “พิชัย เลิศพงศ์อดิศร” จนถูกกล่าวหาและโจมตีคนจากพรรคเพื่อไทย - คนเสื้อแดงเชียงใหม่ อย่างหนัก ถูกตราหน้าว่า “คบไม่ได้“ และ ”หมดสิ้นอุดมการณ์”
ดังนั้นความเคลื่อนไหวของ“จตุพร”ครั้งนี้ จึงถูกคาดหมายว่า “ไร้กองหนุนจากคนเคยร่วมรบ”
และเชื่อว่าแนวร่วมฝั่งม็อบเยาวชน โดยเฉพาะแนวร่วม “กลุ่มราษฎร” จะไม่เข้าร่วม เพราะ “จตุพร” เคยวิจารณ์การเคลื่อนไหว “ม็อบเยาวชน” ที่จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง พร้อมกับประเมินว่า “จะกลายเป็นจุดจบ” ซึ่งถือเป็นคำพูดที่สร้างความไม่พอใจให้กับแกนนำปลดแอก
ขณะเดียวกัน “จตุพร” ได้ประกาศตัวชัดเจนว่า นปช.เป็นกลุ่มที่เคารพสถาบัน ถือเป็นจุดยืนคนละขั้ว ดังนั้น “สามัคคีประชาชน” ที่จตุพรแสดงตัวรับบทนำ จึงต้องหาทางรวมกลุ่มก้อนใหม่
แต่คำถามที่เกิดต่อไป คือการเคลื่อนไหว “จะมีพลังมากแค่ไหน” กับประเด็นหลักที่ชูโรง คือ “ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์” แม้จะเป็นจุดที่ขายได้ แต่ระยะทางไปถึงจุดบรรลุเป้าหมาย อาจถูกตั้งคำถามเป็นระยะว่า ทำไปเพื่ออะไร? เพื่อใคร? ประโยชน์ตกอยู่กับใคร?
เพราะลำพังคนที่ลุกขึ้นมานำ ก็ยังถูกตั้งคำถามจากคนพวกเดียวกันเองว่า “มีอุดมการณ์จริงหรือไม่” เพราะที่ผ่านมาก็ยังมีข้อครหา “เรื่องส่วนตัวมาก่อนประโยชน์ส่วนรวมและองค์กร”
สถานการณ์ที่ประเมินได้จากท่าที แนวร่วมคนกลุ่มเดียวกัน โดยเฉพาะ “เสื้อแดงปีกณัฐวุฒิ" ไม่เอาด้วย ดังนั้น "สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” จุดเริ่มต้นใหม่ของ “จตุพร” ที่พยายามหามิตรร่วมรบ และปลุกกระแส“ไทยไม่ทน” ก็อาจจุดติดได้ยาก.