การเมือง
'สติธร' มองแคมเปญ ล่าชือไล่ 'อนุทิน' สะท้อนความล้มเหลวของ 'ศบค.-นายกรัฐมนตรี'
นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า แนะ คนไม่พอใจการแก้ปัญหาโควิด-19 ของ ศบค.-พล.อ.ประยุทธ์ ชี้ไม่แฟร์ หากไล่ "อนุทิน" ออก เหตุปัญหาจะไม่ถูกแก้ แนะต้องรื้อโครงสร้าง ศบค.
นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงแคมเปญเข้าชื่อเพื่อให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุขลาออก ผ่านเวปไซต์ change.org เพราะความล้มเหลวของการแก้ปัญหาโควิด-19ระบาดรระลอก 3 ที่ล่าสุดมีผู้เข้าชื่อทะลุ 2 แสนคน แล้ว ว่า สะท้อนความไม่พอใจของระบบการแก้ปัญหา รวมถึงการบริหารสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง ของ ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นผอ.ศบค. แต่สิ่งที่ประชาชนเลือกเป้าหมายง่ายที่สุด คือ นายอนุทิน ทั้งที่ไม่ใช่ผู้ดำเนินการสูงสุด และเป็นเพียงบุคคลที่รับนนโยบายสั่งการมาจาก ศบค. มายังกระทรวงสาธารณะสุข ดังนั้นหากจะแปลความว่าแคมเปญดังกล่าวขับไล่นายอนุทิน อาจไม่ยุติธรรมมากนัก
“สิ่งที่ประชาชนสะท้อนผ่านแคมเปญ ผมมองว่า รัฐบาล ต้องพิจารณาตัวเองทั้งระบบ รวมถึงปรับเปลี่ยนการจัดการปัญหาโควิด-19 ใหม่ทั้งระบบ และให้เป็นคอมมานเซ็นต์เตอร์เหมือนต่างประเทศที่ระบบสั่งการและแก้ปัญหามีศูนย์กลางและทำงานให้ได้อย่างรวดเร็ว แต่ของประเทศไทย จะพบว่ามีระดับการตัดสินใจ คือ ศบค.ชุดเล็ก เสนอให้ ศบค. ชุดใหญ่ และเสนอให้ ครม. อนุมัติ ทำให้การแก้ปัญหาล่าช้า เพราะต้องผ่านนวงประชุมถึง 3 วง ดังนั้นหากรัฐบาลจะพลิกวิกฤตได้ต้องปรับระบบบริหาร ลดขั้นตอน เพื่อแก้ปัญหาให้เร็น ประชาชนถึงจะเชื่อมั่น”นายสติธร กล่าว
นายสติธร กล่าวตอบคำถามด้วยว่า กรณีที่รมว.สาธารณสุขจะไปยังไงต่อ ในเมื่อโควต้าดังกล่าวเป็นของพรรคภูมิใจไทย หากให้นายอนุทินออก พรรคภูมิใจไทยต้องหาคนในพรรครับตำแหน่งดังกล่าว หรือหากนายกรัฐมนตรีจะริบโควต้าและให้บุคคลภายนอกดำรงตำแหน่ง ตนเชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาการทำงานได้ แม้จะได้หมอที่เชี่ยวชาญดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข แต่การทำงานนั้นยังต้องรับคำสั่งจาก ศบค.ชุดเล็ก ศบค.ชุดใหญ่ ไม่มีอิสระ ดังนั้นในทางการเมืองตนมองว่าเปลี่ยนตัวไม่ช่วยอะไร และอาจแย่กว่าด้วยซ้ำ
นายสติธร กล่าวด้วยว่าสำหรับสถานการณ์การเมืองปัจจุบันที่หลายฝ่ายมองว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงนั้น ตนมองว่าสามารถออกได้ทุกหน้า ทั้งการยุบสภา หรือ นายกรัฐมนตรีลาออก หรือ การปรับเปลี่ยนพรรคร่วมรัฐบาล ปัจจัยที่จะนำไปสู่ทางเลือกต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับความเลวร้ายของสถานการณ์โควิด-19 หากรัฐบาลไม่สามารถจัดการวิกฤตของโรคระบาดร้ายแรงได้ ฝ่ายการเมืองต้องหาทางผ่อนคลายสถานการณ์
“การยุบสภา ผมเชื่อว่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่ผ่าน ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 เพราะฝ่ายการเมืองต้องเคลียร์ทุกอย่างให้เสร็จ และเรียบร้อย รวมถึงการรโยกย้าย พร้อมปูทางไปสู่การยุบสภา เช่น กรณีที่นายกรัฐมนตรีแบ่งงานให้รัฐมนตรีดูแลจังหวัดต่างๆตั้งใจปูพรมหว่านนบานเสียง โดยใช้การเมืองปนกับวิกฤตที่เกิดขึ้น” นายสติธร กล่าว.