'3 แสน' นักโทษคลัสเตอร์คุก ปกปิด'สิทธิ' ที่จะมีชีวิตอยู่
กรมราชทัณฑ์ กำลังเจอกับโจทย์ใหญ่กับการแก้ปัญหาวิกฤตินี้ เพราะนาทีนี้ นอกจากการรับมือสถานการณ์โรคแล้ว คำถามจากกระแสสังคมต่อความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน ที่ผู้ต้องขังก็มีสิทธิ “ที่จะมีชีวิตอยู่”
เป็นตัวเลขที่สุด “วิกฤติ” แต่ถูก “ปิดเงียบ” มาตลอด จนกระทั่งเพียง 3-4 วัน รายงานตัวเลขผู้ต้องขังที่ติดโควิด-19 “คลัสเตอร์เรือนจำ” ที่ถูกซุกเอาไว้ในคุกได้ลุกลามอย่างหนัก จนพุ่งพรวดทะลุหลักหมื่น
ตัวเลขที่รายงานมายัง ศบค. จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในเรือนจำและทัณฑสถานในพื้นที่เสี่ยง 8 แห่ง ระหว่างวันที่ 1-16 พ.ค.2564 พบว่า 5 เรือนจำในพื้นที่ กทม. เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำพิเศษธนบุรี ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง พบติดเชื้อโควิด 6,749 ราย จากการตรวจ 14,429 ราย ส่วนเรือนจำกลางฉะเชิงเทรา พบติดเชื้อโควิด 22 จาก 798 ราย เรือนจำกลางนนทบุรี พบติดเชื้อ 48 รายจาก 2,661 ราย และเรือนจำกลางเชียงใหม่พบติดเชื้อ 3,929 ราย จาก 6,469 ราย
ตัวเลขโดยสรุป การตรวจหาเชื้อ 24,357 ราย พบติดโควิด 10,748 ราย และรอรายงานผลอีก 2,235 ราย
เป็นการตรวจเชิงรุกเรือนจำและทัณฑสถานเพียง 8 แห่ง แต่ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการขณะนี้มีถึง 15 แห่งที่กำลังรอลุ้นผลตรวจหาเชื้ออยู่ ซึ่งเป็นบางส่วนจากทัณฑสถานทั้งหมดทั่วประเทศ 143 แห่ง ซึ่งแบ่งออกเป็น ส่วนกลาง ได้แก่ เรือนจำกลาง 33 แห่ง เรือนจำพิเศษ 4 แห่ง ทัณฑสถาน 24 แห่ง สถานกักกัน 1 แห่ง สถานกักขัง 5 แห่ง ส่วนภูมิภาค ได้แก่ เรือนจำจังหวัด 50 แห่ง เรือนจำอำเภอ 26 แห่ง จำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ณ วันที่ 2 พ.ค.2564 รวม 310,830 คน
สถานการณ์โควิด “คลัสเตอร์เรือนจำ” กลายเป็นวิกฤติใหญ่ที่น่าเป็นห่วง แม้ก่อนหน้านี้ เมื่อ 13 พ.ค.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ เพิ่งจะเรียงหน้าแถลงอย่างมั่นใจว่า “คุมสถานการณ์ได้” หลังจากกรมราชทัณฑ์ยอมรายงานตัวเลขผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 จาก 2 แห่งแรก ทัณฑสถานหญิงกลางและเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มียอดผู้ติดเชื้อรวมเกือบ 3 พันราย ซึ่งเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง
ถัดมาเพียง 3 วัน การแถลงของ รมว.ยุติธรรม และคณะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ กลับยอมรับวิกฤติครั้งนี้ิ และออก 10 มาตรการเพื่อหยุดยั้งวิกฤติคลัสเตอร์เรือนจำครั้งนี้ให้ได้ พร้อมทั้งประกาศเปิดข้อมูลในแดนสนธยา ที่ถูกปกปิดเอาไว้
ก่อนหน้านี้กลุ่มภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ส่งหนังสือเรียกร้องให้ชี้แจง และเปิดเผยข้อมูลการแพร่ระบาดในเรือนจำ จากที่ได้ข้อมูลผู้ต้องขังคดีการเมืองหลายราย ที่ติดเชื้อจากภายในเรือนจำ รวมทั้งขอให้ รมว.ยุติธรรม สั่งการให้จัดทำข้อมูลผู้ติดเชื้ออย่างเป็นระบบโดยเร่งด่วน และแถลงชี้แจงสถานการณ์การแพร่ระบาดในเรือนจำ แนวทางการแก้ไขสถานการณ์ และมาตรการการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงชี้แจงข้อมูลของผู้ต้องขังที่ติดโควิด และสถานการณ์การแพร่ระบาดในเรือนจำทั่วประเทศ ว่ามีจำนวนเท่าใด และจำนวนผู้ติดเชื้อได้ถูกนำส่งไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) หรือไม่ และจำนวนผู้ติดเชื้อที่ ศบค. แถลงเป็นประจำทุกวัน รวมจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำทั่วประเทศอยู่ด้วยหรือไม่
เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการขอความร่วมมือ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข และหน่วยงานของรัฐต่างๆ ให้ร่วมกันแกัปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดในเรือนจำ ซึ่งผู้ต้องขังหรือนักโทษในเรือนจำพึงได้รับสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน
ทว่า ข้อเรียกร้อง และข้อเสนอต่อฝ่ายการเมือง และผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ กลัับไม่มีสัญญาณตอบรับ กระทั่งความจริงก็ไม่สามารถปกปิดได้อีกต่อไป
แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาและความพยายามในการบริหารจัดการปัญหาความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ ที่อยู่ในสภาพง่ายต่อการแพร่กระจายของเชื้อที่เล็ดลอดเข้าไปได้ แต่หากไม่ปิดบังความจริง ปัญหาก็อาจไม่ลุกลามหนักขนาดนี้
ข้อมูลจาก อดีตนักโทษคนดัง อย่าง “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ที่ฉายภาพให้คนนอกได้นึกภาพตามว่า “คลัสเตอร์คุก นรกมาเยือน” คงไม่ใช่เรื่องเกินจริง เมื่อคุกกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่สุด เร็วที่สุด จำนวนมากที่สุด ที่พบในครั้งเดียวของประเทศไทย เพราะพบทีเดียวหลายพันคน เพราะข้อจำกัดที่เคลื่อนย้ายนักโทษออกไปไหนไม่ได้
“ชูวิทย์” ยกประสบการณ์ในคุก บรรยายถึงสภาพความแออัดยัดเยียดของคุกว่า “หากคิดว่าคลองเตยอยู่อย่างแออัดแล้ว เทียบกับในเรือนจำ มันยิ่งกว่าคลองเตยคูณสิบ ในคุกไม่มีแม้แต่วินาทีเดียว ที่จะได้อยู่ห่างกันเกิน 1 ก้าว ไม่ว่า กินข้าวด้วยกัน อาบน้ำด้วยกัน ขังรวมกัน นอนเรียงกันเป็นพืด 15 ชั่วโมง ตั้งแต่ บ่าย 3 โมง ไปยัน 6 โมงเช้า เวลา ไอ กรน พัดลมหมุนเวียน แม้หน้าต่างจะมี แต่อากาศระบายไม่ได้ เพราะกำแพงสูงอย่างกับกำแพงเมืองจีน อย่าเข้าใจว่าคุกไทยเหมือนคุกในหนังฝรั่ง ที่ขัง 2 คนต่อห้อง มีห้องน้ำส่วนตัวนะครับ มันห่างชั้นกันคนละโลก เพราะคุกไทยห้องขนาด 4x10 เมตร เท่ากับ 40 ตารางเมตร ช่วงตำรวจฟิตจัดๆ อยู่รวมกัน 60-70 คน เรียกว่า 1 ตารางเมตร นอนกัน 2 คน แน่นขนาดลุกไปเยี่ยวกลับมา ที่นอนไม่ว่างแล้ว”
"ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ผู้ต้องขังใหม่ที่เพิ่งเข้ามา กับผู้ต้องขังเก่าที่กักตัวอยู่ ถูกเอามากักรวมกัน คละเคล้ากันไปในแดน 2 ตามห้องต่างๆ ที่มีอยู่เพียง 13 ห้อง แทนที่คนใหม่มาจะเอาเข้าห้องใหม่ แต่ห้องไม่พอ เลยใช้วิธีเวียนเทียนห้องสลับไปมาจนล้น ต้องเอาไปฝากแดน 1 อยู่ 3 ห้อง ส่วนผู้ต้องขังในแดนอื่นๆ เมื่อมีนัดขึ้นศาล ไปเสี่ยงติดเชื้อกลับมา ก็ต้องเอาไปอยู่แดน 2 เพื่อกักตัวใหม่อีก 21 วัน ยัดเข้าไปห้องเดียวกันกับคนที่กักตัวอยู่"
ข้อมูลจากชูวิทย์ ที่เชื่อว่าได้มาจากคนใน สภาพเช่นนี้ หน่วยงานรับผิดชอบอย่างกรมราชทัณฑ์ ย่อมถูกตั้งคำถามว่า ในเมื่อมาตรการต่างๆ ได้ผล มั่นใจว่าควบคุมอยู่ แล้วผู้ต้องขังจะติดเชื้อในอัตราสูง และรวดเร็วขนาดนี้ได้อย่างไร
ที่สำคัญ กรมราชทัณฑ์ กำลังเจอกับโจทย์ใหญ่กับการแก้ปัญหาวิกฤตินี้ เพราะนาทีนี้ นอกจากการรับมือสถานการณ์โรคแล้ว คำถามจากกระแสสังคมต่อความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน ที่ผู้ต้องขังก็มีสิทธิ “ที่จะมีชีวิตอยู่”
ผลกระทบจากการประมาท หรือการปล่อยปละละเลย กำลังเป็นคำถามย้อนกับมายังฝ่ายบริหารนโยบาย และกำลังลามไปถึงผู้นำรัฐบาล ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ถึงกับต้องหารือด่วนเพื่อเร่งแก้คลัสเตอร์นี้
หากฟังจากถ้อยคำระหว่างบรรทัดของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมแล้ว เสร็จศึกโควิดครั้งนี้ เตรียมล้างผู้บริหารคุก ยันผู้บริหารกรม แน่นอน!