3 ยุค “สปช.-สปท.-กก.การเมือง” 7 ปี "ปฏิรูปประเทศ" ไปไม่ถึงครึ่งทาง

3 ยุค “สปช.-สปท.-กก.การเมือง”  7 ปี "ปฏิรูปประเทศ" ไปไม่ถึงครึ่งทาง

7ปีกับการอยู่ในตำแหน่ง ผู้นำประเทศ ของ "พล.อ.ประยุทธ์" สิ่งที่ถูกโฟกัสมาสุด คือ การครองอำนาจ ภายใต้เกมการเมืองที่ถูกเซ็ทขึ้น ขณะที่ การปฏิรูปการเมือง ที่เป็นเป้าหมายหลักของการยึดอำนาจนั้น ประจักษ์ชัดว่า "ล้มเหลว" สิ้นเชิง

       การปฏิรูปประเทศหลังการ รัฐประหาร” 22 พฤษภาคม 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งใจให้ประเทศเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านการเมืองที่ถ่ายทอด “ความคิด” เป็น “รูปธรรม” บนบทบัญญัติของ “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน”

       แต่ผ่านมา 7 ปี การปฏิรูปที่ก่อร่างสร้างโครงมาตั้งแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ส่งต่อให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และมาถึงมือ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” ในยุครัฐบาลปัจจุบัน

       และผ่านมา 4 ปีของกติกาที่ออกแบบให้การเมืองใสสะอาดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

       กลับประจักษ์ชัดว่า การปฏิรูปที่คณะรัฐประหาร รับปาก จากข้อเรียกร้องของมวลมหาประชาชน “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)” ที่จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งนั้นเป็นเพียง “วาทกรรม” ทางการเมืองเพื่อ สร้างความชอบธรรมของการยึดอำนาจเท่านั้น

162178646184
       จากเว็ปไซต์ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง พบว่าในห้วงปีงบประมาณ 2564 กรรมการประชุมกันแค่ 2 ครั้งและครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2563 จากนั้นไม่ปรากฎการนัดประชุมหรือมีรายงานประชุมเผยแพร่

       "กรุงเทพธุรกิจ" ได้สำรวจแผนงาน และรายงานการปฏิรูปด้านการเมือง ที่ทำมาใน 3 ยุค ตั้งแต่ยุคของสปช. ยุคของ สปท.  และ ยุคล่าสุดคือ บทบาทคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง จะพบว่าตั้งแต่จุดเริ่มต้น มาถึงปัจจุบัน มีเรื่องปฏิรูปที่นำไปสู่การปฏิบัติ หรือรับช่วงต่อมีดังนี้


       รายงานการปฏิรูปที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สปช. ซึ่งขณะนั้น กรรมการปฏิรูปการเมือง มี สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตแกนนำ กปปส. เป็นประธานในช่วงปี 2557 - 2558 ได้เสนอแผนที่ผ่านความเห็นชอบสำคัญ 2 วาระปฏิรูป และ 10 แผนงานย่อย

       ได้แก่ วาระการปฏิรูปเข้าสู่อำนาจ และระบบพรรคการเมือง ซึ่งแยกย่อย เป็น 4 แผนงาน คือ 1.ผนปฏิรูปพรรคการเมืองไม่เป็นของนายทุน ซึ่งกำหนดความสำคัญอยู่ที่การออกกฎหมายกำกับการดำเนินงานของพรรคการเมือง เช่น เสนอใช้ระบบไพรมารี่โหวต คัดกรองผู้สมัครส.ส. กำหนดมาตรการพร้อมขีดโทษ ห้ามบุคคลที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคแทรกแซงกิจการภายใน ควบคุมการรับเงินบริจาค ป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียง เป็นต้น


      2. แผนปฏิรูปการคัดเลือกคนดีเข้าสู่สภา 3.แผนปฏิรูปโครงสร้าง 6 องค์กรอิสระ ได้แก่ กกต. ป.ป.ง. ป.ป.ช. กสม. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และองค์กรตรวจเงินแผ่นดิน 4.แผนปฏิรูปการเรียนรู้และมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ซึ่งแผนดังกล่าว ให้ความสำคัญต่อการออกกฎหมายและระเบียบ เพื่อขีดเป็นบรรทัดฐานขั้นต่ำที่คิดว่าจะทำให้การเมืองไทยใสสะอาด

       และยังมีวาระปฏิรูปพิเศษ คือ “แนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดอง” ที่เสนอแนวทาง 6 ประเด็น คือ 1.สร้างความเข้าใจร่วมของสังคมต่อเหตุความขัดแย้ง 2. แสวงหาและเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุความรุนแรง 3. อำนวยความยุติธรรม สำนึกรับผิดและให้อภัย 4. เยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ 5. สร้างภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันและ 6.มาตรการป้องกันความรุนแรงในการแก้ปัญหา

       ต่อมาในยุคของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ซึ่งมี เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน ปี 2559 - 2560

       ตามรายงาน ได้ถอดรหัสจากวาระปฏิรูปและแผนงานของยุค สปช. รวม 6 ประเด็น 5 ร่างกฎหมาย และ 1 ข้อเสนอสู่แผนยุทธศาสตร์ชาติ

       ได้แก่ 1. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2. การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม 3. การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 4. ระบบพรรคการเมือง 5. การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 6. การปฏิรูปการปฏิบัติงานในรัฐสภา 7.ข้อเสนอเพื่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

       8. ข้อเสนอ เพื่อการจัดทำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 9. ข้อเสนอ เพื่อการจัดทำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 10. ข้อเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ส่วนการเข้าสู่ตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ ร่าง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 11.เสนอ ร่าง พ.ร.บ.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อปฏิรูปการเมือง ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่นำเข้าสู่รัฐสภาสภาฯ ให้พิจารณา และ 12. ข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองเพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ

162178652678


       ทั้งนี้ข้อเสนอด้านกฎหมายนั้น มีความพยายามดำเนินการให้เสร็จพร้อมกับการทำรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะหลักใหญ่สำคัญ คือ ใช้เป็นกลไกควบคุมนักการเมือง ยกเว้นร่าง พ.ร.บ.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

       และยุคล่าสุดภายใต้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่ก่อนหน้านี้ คณะแรกมี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานใน ปี 2560 แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการทยอยลาออกไปจนไม่สามารถขับเคลื่อนได้ จึงเว้นว่างไป และคณะปัจจุบันได้แต่งตั้ง ดร.ปกรณ์ ปรียากร นักวิชาการรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นประธาน ในปี 2563- ปัจจุบัน

       เมื่อถอดแผนของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ออกมา เป็นแนวปฏิบัติ ได้ 5 แผน และ 1 ร่างกฎหมาย ดังนี้ 1.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.กลไกแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีและรู้รักสามัคคี 3. การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม 4. การเลือกตั้งสุจริต และเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูป 5. การสร้างรัฐธรรมาธิปไตย และ 6. ทำร่าง พ.ร.บ.เสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบบประชาธิปไตย พ.ศ...
โดยการทำงานในยุคล่าสุด ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับช่วงต่อ อาทิ คณะกรรมกมารการเลือกตั้ง สถาบันพระปกเกล้า สำนักนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ปรากฎเป็นรูปธรรม

162178652645

       ดังนั้นอาจเรียกได้ว่าในยุคปฏิรูปเริ่มแรกรวมระยะ 7 ปี ที่ตั้งต้นด้วย 10 แผนงาน จนมาถึงยุคล่าสุด ถูกเลือกมาทำแค่ 5 เรื่อง แต่ 5 เรื่องที่ว่านั้นกลับไม่มีผลงานเชิงประจักษ์ จนอาจมองได้ว่าเป็นการ “ปฏิรูปการเมืองที่ล้มเหลว”

+ มุมมองคนใน ไม่คืบหน้าเป็นรูปธรรม +

       ต่อเรื่องนี้ มุมมองของกรรมการปฏิรูปด้านการเมือง อย่าง ศ.เกียรติคุณธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะคนในยอมรับว่า การปฏิรูปการเมืองที่เซ็ตประเด็นไว้ ไม่มีอะไรคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาสถานการณ์โควิด-19 และรอให้หน่วยงานที่รับช่วงงานปฏิบัติ


       อาจารย์ธีรภัทร์ ย้ำว่าวาระที่ต้องทำเร่งด่วน 5 ด้าน ทั้งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการกำหนดนโยบายสาธารณทุกระดับ ส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง ปรับปรุงโครงสร้างรัฐธรรมนูญ เพื่อการปฏิรูป และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ล้วนมีหน่วยราชการ สถาบันพระปกเกล้า และคณะ ป.ย.ป.(คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง) เป็นเจ้าภาพและแม่งาน ส่วนคณะกรรมการนั้นเป็นเพียงผู้ให้แนวคิด ทิศทาง และมอบหมายงาน ไม่ใช่ผู้ลงมือทำ

162178673313


       ดังนั้นสิ่งที่สังคมคาดหวังอย่างสำคัญ คือ “การแก้ปัญหาขัดแย้ง หรือการสร้างความสามัคคีปรองดอง” นักวิชาการผู้นี้ จึงใช้ประสบการณ์ทางวิชาการส่วนตัวมองว่า

       “เดินหน้าไม่ได้ เพราะขาดความร่วมมือ โดยเฉพาะรัฐบาล ปัญหาที่หมักหมม ความขัดแย้งแตกแยกสังคมไทยยังไม่คลี่คลาย อาจมีองค์กรอื่น เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ ตั้งกรรมการสมานฉันท์ แต่ไม่มั่นใจทำงานได้เต็มที่ ดังนั้นการแก้ปัญหาได้ต้องมีเจ้าภาพ มีแกนกลาง ถ้ารัฐบาลไม่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติการแก้ปัญหาจะไม่คืบหน้า”

       ในความจริงข้อนี้ อาจารย์ธีรภัทร์ ฉายภาพว่า 7 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในบทของผู้นำประเทศพิสูจน์ว่าไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงนี้ เหตุไร้แนวคิด นโยบาย วิธีปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา อีกทั้งยังเป็นคนนำรัฐบาลไปสู่ความเป็นคู่ขัดแย้ง หรือตัวปัญหามากกว่าแก้ปัญหา

       “ผมเห็นด้วยที่มีประชาชนขับไล่ ทางที่ดีนายกรัฐมนตรีควรมีจิตสำนึก และเสียสละทางการเมือง ไม่ควรยึดติดตำแหน่ง ส่วนใครก็ตามที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ผมเชื่อว่าเป็นใครก็ได้ ย่อมดีกว่าคนปัจจุบัน แต่หากคนเดิมยังคาอยู่ ไม่ไปสักที คนใหม่ก็มาไม่ได้ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่ดีพอ อุดมการณ์ไม่ดีพอ ทางเดียวที่ไปได้คือ รอการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นปลายปีนี้”

162178682963

       สำหรับการปฏิรูปที่ต้องขับเคลื่อนภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลที่เหลือเวลาปีเศษ ก่อนจะหมดวาระในกลางเดือนสิงหาคม 2565 นั้น ในฐานะผู้รับผิดชอบอาจารย์ธีรภัทร์บอกว่า เป็นบทบาทที่หน่วยงาน เช่น กกต. สถาบันพระปกเกล้า ดำเนินการ แต่สิ่งที่กังวลมากสุด คือ ความสามัคคีปรองดองของคนในชาติที่ขาดกลไกแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที


       คำถามหนึ่งที่สังคมแคลงใจว่าตลอด 7 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่ในอำนาจ ประเทศไทยได้หรือเสีย สิ่งที่ อาจารย์ธีรภัทร์ สะท้อนคือ ไม่มี
อะไรที่ได้ทั้งหมดหรือเสียทั้งหมด กับประโยชน์ที่ได้คือการสร้างประวัติศาสตร์ และได้บทเรียน และบทเรียนที่คนไทยได้รับคือ รัฐประหารไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับพบปัญหาที่ใหญ่กว่า ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น จะทำให้การตัดสินใจและผลักดันให้ประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างถูกต้อง มั่นคง และชอบธรรม

+ ฝ่ายเร่งรัดชี้ไม่ตอบโจทย์ความคาดหวัง +

       อีกบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์ มาตั้งแต่ สปช. สปท. อย่าง “วันชัย สอนศิริ” สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. สะท้อนมุมมองในฐานะฝ่ายติดตาม เร่งรัดการปฏิรูป ที่ไม่ต่างจากกรรมการปฏิรูปฯ ว่า

       "ไม่มีการปฏิรูปด้านใดที่ตอบโจทย์ความคาดหวัง หรือทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบกระแทกใจ แต่สิ่งที่รัฐบาล คสช.ทำมาตลอด 5 ปี และสืบต่อมาอีก 2 ปีภายใต้ผู้นำคนเดียวกัน สิ่งที่ทำดีที่สุดคือการลูบๆ คลำๆ ปัญหาแบบรูทีน แบบระบบราชการ แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ครั้งสำคัญ"

       พร้อมยกตัวอย่างว่า การปฏิรูปตำรวจไม่คืบหน้า หรือสื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงกับระบบยุติธรรม แม้มีกฎหมายรอพิจารณาแต่ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลต่อไปจะทำสำเร็จหรือไม่!!

       การปฏิรูปการเมืองที่โฟกัสคือการเลือกตั้ง ยอมรับว่ามีตัวกฎหมายที่ปรับเปลี่ยน และทำให้ได้นักการเมืองรุ่นใหม่เข้าสู่เวทีสภาฯ แต่พฤติกรรมของนักการเมืองในสภาฯ ยังมุ่งแต่ผลประโยชน์ แสวงหาอำนาจ ขณะที่การเลือกตั้งยังพบการทุจริต ซื้อเสียงขายสิทธิ์เหมือนเดิม ขณะที่โครงสร้างทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมือง จิตวิญญาณทางการเมือง และพรรคการเมืองยังเป็นรูปแบบเดิม อาจมีเปลี่ยนคงแค่การย้ายพรรคเท่านั้น

162178673226

       เมื่อให้ “วันชัย” มองความล้มเหลวของการปฏิรูปในห้วง 7 ปี เป็นเพราะ “ผู้นำ” หรือไม่ เขาตอบแบบปริศนาธรรมไว้ว่า

       “ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารหลายครั้ง และสิ่งที่พบคือ การแก้ปัญหาได้หรือไม่ นอกจากผู้นำแล้วยังอยู่ที่ทีมงาน แต่สิ่งทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จ สำคัญคือระบบราชการ คิดและยึดติดแบบระบบราชการมากเกินไป ทำให้การขับเคลื่อนไม่สำเร็จ หรืออาจสำเร็จแต่ล่าช้า”

       กับโอกาสของการเปลี่ยนตัวผู้นำเพื่อเปิดโอกาสใหม่ให้ประเทศ สิ่งที่ “วันชัย” มองว่า การเปลี่ยนแปลงต้องมีสถานการณ์กับสภาพปัญหาของพรรคร่วมรัฐบาล และความอยู่นาน ทำให้คนเบื่อแม้ไม่มีความผิด

       เมื่อถามว่าหากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องอยู่ต่อ ต้องปฏิรูปตัวเองอย่างไร สิ่งที่เป็นคำตอบคือ ต้องกล้าปฏิรูปเรื่องใหญ่ๆ ที่โดนใจประชาชน โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ กล้าปราบปรามทุจริต ไม่ใช่แค่ประกาศเพื่อให้เป็นปรากฎการณ์เท่านั้น ขณะเดียวกันการเลือกตั้งต้องทำให้สุจริต เที่ยงธรรมอย่างแท้จริง เพราะหากไม่ทำ สถานการณ์วิกฤติจะรุมเร้า ทั้งไวรัสโรคร้าย กับไวรัสการเมืองที่โหมกระทบ ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก.