สแกน“พรรคร่วมรัฐบาล” ยุบสภา พรรคใดได้เปรียบสุด

สแกน“พรรคร่วมรัฐบาล” ยุบสภา พรรคใดได้เปรียบสุด

เดาใจ “เนวิน-ภูมิใจไทย” วันนี้ แม้จะยังไม่อยากให้ “ยุบสภา” แต่ก็ไม่อยากเป็นลูกไล่ของ “พล.อ.ประยุทธ์-ขุนทหาร” จนตัวเองไม่มีที่ยืนเหมือนกัน จึงต้องจับตาว่าข้อตกลงบนโต๊ะเจรจาจะเคลียร์กันจบหรือไม่

กระแสข่าว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เตรียมยุบสภามาแรงอย่างต่อเนื่อง เพราะเกิดปัญหาการทำงานภายใน “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่นับวันมีแต่รอยร้าวลึกจนยากเกินจะสมาน
แถมการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 “พรรคร่วมรัฐบาล” หันมาโจมตีดิสเครดิตกันหลายดอก โดยเฉพาะ “พรรคภูมิใจไทย” ที่ระยะหลังไม่ลงรอยกับ “3 ป.” ในหลายเรื่อง
โฟกัสหลักคือการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ “หมอหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โดน “พล.อ.ประยุทธ์” ริบอำนาจไปบริหารจัดการโควิด-19 เอง จนแทบไม่เหลืองานให้ทำ
ที่สำคัญมีกระแสข่าวว่า “3 ป.” ส่งสัญญาณปลด “เสี่ยโอ๋” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ออกจาก ครม. เซ่นปมแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3  จน “เนวิน ชิดชอบ” เบอร์หนึ่งพรรคภูมิใจไทย ต้องเข้าพบ “3 ป.” เพื่อเปิดเจรจาเคลียร์ทางให้ “น้องโอ๋” ได้นั่งเก้าอี้รมว.คมนาคมต่อ
ชั่วโมงนี้ จากที่ “3 ป.” มั่นใจว่า ไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใด มีความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง ไพ่ยุบสภาที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ถืออยู่ จะสามารถกำราบไม่ให้ “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” ออกฤทธิ์ออกเดชได้ ก็ไม่แน่อีกต่อไป เพราะได้ชื่อว่า “นักเลือกตั้ง” มีโอกาสเมื่อไหร่ก็พร้อมเสมอ อยู่ที่ “ท่อน้ำเลี้ยง” จะพร้อมมากแค่ไหนต่างหาก
“กรุงเทพธุรกิจ” รวมรวบข้อมูลของพรรคการเมืองที่พร้อมลงสนามเลือกตั้งมากที่สุด หากมีการ “ยุบสภา” มานำเสนอ เพราะหากดูจากสถานการณ์แล้วเวลานี้ “พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค” ไม่กลัวกระบอง “ยุบสภา”
จากข้อมูลพบว่า “พรรคภูมิใจไทย” มีความพร้อมลงสนามเลือกตั้งมากที่สุด แถมเป็นพรรคการเมืองที่มีระบบการดูแล ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ดีที่สุดเลยก็ว่าได้ เนื่องจาก “เนวิน” วางระบบพรรคไว้ค่อนข้างดี “อดีตผู้สมัคร ส.ส.” คนใดสอบตก ได้ลำดับ 2-3 โดยแพ้คู่แข่งไม่มาก “เนวิน-ภูมิใจไทย” ต่อสายและดูแลต่อเนื่อง สำหรับสนามเลือกตั้งเที่ยวหน้าเรียบร้อย
โดยมี “อดีตผู้สมัคร ส.ส.” ของพรรคภูมิใจไทยหลายคน ได้รับการปูนบำเหน็จให้เข้ามาดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง เพื่อนำไปสานต่องานในพื้นที่ของตัวเอง เพราะอดีตผู้สมัคร ส.ส. ทุกคนสามารถเก็บแต้มปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรคได้เป็นกอบเป็นกำ
แถมการดึง “ส.ส.” ที่เคยอยู่ร่วมชายคาพรรคอนาคตใหม่ เข้ามาอยู่ในอ้อมอก ก็ใช้ต่อยอดงานได้เป็นอย่างดี “ส.ส.ภูมิใจไทย” เกือบทุกคนลงพื้นที่ไม่ขาดสาย ดูแลประชาชนที่เป็นฐานเสียงอย่างดี กระแสในพื้นที่จึงไม่ค่อยตก

ที่สำคัญ “เนวิน-ภูมิใจไทย” จัดมีท่อน้ำเลี้ยง ไหลต่อเนื่องให้ “ลูกพรรค” อย่างเท่าเทียม ส่วนใครจะมีช่องทางใดเสนอของบพิเศษก็ไม่ปฏิเสธ อาจจะจัดสรรปันส่วนมากที่พรรคบ้าง แต่ก็อยู่ในอัตราที่ตกลงกันไว้
ทว่า “ภูมิใจไทย” ก็มีจุดเสียเปรียบอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของ “หมอหนู” กระแสค่อนข้างติดลบ แม้จะโยนเรื่องไปที่ “พล.อ.ประยุทธ์” แต่ “หมอหนู” ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ แถม “ศักดิ์สยาม” ก็อยู่ในข่ายที่อาจจะถูกโจมตีจากปมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดระลอก 3  แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธก็ตาม
เดาใจ “เนวิน-ภูมิใจไทย” วันนี้ แม้จะยังไม่อยากให้ “ยุบสภา” แต่ไม่ยากเป็นลูกไล่ของ “พล.อ.ประยุทธ์-ขุนทหาร” จนตัวเองไม่มีที่ยืนเหมือนกัน จึงต้องจับตาว่าข้อตกลงบนโต๊ะเจรจาจะเคลียร์กันจบหรือไม่
ข้ามฟากไปที่ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่นำโดย“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คงไม่อยากให้การต่อรองลากไปจนถึงการ “ยุบสภา” เพราะต้องการเดินตามโรดแมฟ ด้วยการอยู่ครบเทอม 4 ปี แล้วค่อยลงสนามเลือกตั้งอีกสมัย โดยมี 250 ส.ว. ที่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ได้อีกหนึ่งครั้ง
แต่หากเกิดเหตุจำเป็นต้อง “ยุบสภา” ก็พอจะมีจุดได้เปรียบอยู่บ้างตรงที่เครือข่ายอำนาจทั้งหมด จะต้องลงมาช่วย “พล.อ.ประยุทธ์-พลังประชารัฐ” เต็มกำลัง 
แถมในช่วงที่ผ่านมาก็สามารถขยายฐานเสียงได้มากพอสมควร และ ส.ส.พลังประชารัฐ ค่อนข้างลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญไม่ต้องเป็นห่วงท่อน้ำเลี้ยง “3 ป.” มีไม่อั้น
นอกจากนี้ นโยบายรัฐทำให้ “พลังประชารัฐ” ได้เปรียบอย่างมาก โดยเฉพาะ โครงการคนละครึ่ง โครงการไทยชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน เป็นต้น โดยโครงการช่วยเหลือเยียวยาโควิด-19 สามารถทำให้คะแนนนิยมในตัวของ “พล.อ.ประยุทธ์” พุ่งกระฉูดมาแล้ว หากอัดงบประมาณลงไปอีกก็อาจจะกู้คะแนนนิยมที่เสียไปในช่วงการแพร่ระบาดระลอก 3 ได้
ข้อเสียบเปรียบของ “พลังประชารัฐ” อยู่ที่คะแนนนิยมของ “พล.อ.ประยุทธ์” ตกลงไปมากหากเทียบกับการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2564 ที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าคะแนนของ “พลังประชารัฐ” ส่วนใหญ่มาจากตัวของ “พล.อ.ประยุทธ์”
อีกทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ “พลังประชารัฐ” แทบไม่ได้เลี้ยงดู อดีตผู้สมัครแถว 2-3 เอาไว้เลย ดังนั้นตัวอดีตผู้สมัครจึงโดนพรรคคู่แข่งดูดเข้าพรรคไปพอสมควร หน่ำซ้ำภายในพรรคยังแบ่งเป็นก๊วน-กลุ่ม ที่รอวันจะประชันเพลงดาบทางการเมือง ที่สงบศึกอยู่ตอนนี้เพราะพิษโควิด-19
ดังนั้น “พลังประชารัฐ” แม้อาวุธสู้ศึกเลือกตั้งจะครบมือ แต่ความพร้อมลงสู้ศึกเลือกตั้งยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่

162251138571

ขณะที่ “พรรคประธิปัตย์” ภายใต้การนำของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะให้ “ลูกพรรค” ออกมาประกาศว่าพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง 350 เขต แต่ใจจริงยังแอบหวังที่จะแก้รัฐธรรมนูญก่อน โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้ง
“แกนนำประชาธิปัตย์” วิเคราะห์ว่า หากกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โอกาสที่ “ประชาธิปัตย์” จะได้ ส.ส.มากกว่าบัตรเลือกตั้งใบเดียวค่อนข้างเยอะ เพราะฐานแฟนคลับในพื้นที่กทม.-ภาคใต้ ในภาพรวมแล้วยังนิยมแบรนด์เก่าแก่อยู่
ดังนั้นหากเกิดการ “ยุบสภา” ในเร็วๆ นี้ “ประชาธิปัตย์” อาจจะไม่แฮปปี้กับบัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่ก็พร้อมที่จะส่งผู้สมัครลงทั้ง 350 ที่เหลือวัดกันที่นโยบายจะโดนใจประชาชนมากน้อยเพียง
ทว่าอีกจุดอ่อนหนึ่งที่ต้องยอมรับคือตัวของ “จุรินทร์” เอง ที่ยังไม่ป็อปปูล่ามากพอที่จะนำ “ประชาธิปัตย์” กลับสู่ความยิ่งใหญ่
ด้าน “พรรคชาติไทยพัฒนา” ภายใต้การนำของ “วราวุธ ศิลปอาชา” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แทบจะไม่มีความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง เพราะฟันธงได้เลยว่าหากลงสนามเลือกตั้ง จำนวน ส.ส.ของพรรคชาติไทยพัฒนามีโอกาสสูงที่จะลดลง
เนื่องจากพื้นที่ฐานเสียงแทบจะเหลือแค่ จ.สุพรรณบุรี เพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น บรรดานักการเมืองรุ่นเก่าที่ “บิ๊กเติ้ง” บรรหาร ศิลปอาชา เคยชุบเลี้ยงกันมา ต่างทยอยออกจากพรรค 
ว่ากันว่าตระกูล “สะสมทรัพย์” บ้านใหญ่จ.นครปฐม ก็ไม่แฮปปี้ที่อยู่ร่วมชายคา “ชาติไทยพัฒนา” หากต้องลงสนามเลือกตั้งก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องย้ายค่าย
เวลานี้ “วราวุธ-ชาติไทยพัฒนา” ได้แต่ภาวนาไม่ให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ยุบสภา ขออยู่ร่วมรัฐบาลจนครบเทอมจะดีกว่า
สำหรับ พรรคพลังท้องถิ่นไท-พรรคชาติพัฒนา-พรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย ก็ไม่แฮปปี้เช่นกันหาก “พล.อ.ประยุทธ์” จะยุบสภา เพราะไม่อยากไปเสี่ยงในสนามเลือกตั้ง จำนวน ส.ส. ที่มีอยู่คำนวณแล้วยากที่จะได้เพิ่ม โอกาสที่เก้าอี้ ส.ส. จะลดลงมีมากกว่าด้วยซ้ำ
ด้าน 10 พรรคเล็ก ยิ่งไม่อยากเห็นทางเลือกนี้ เพราะทั้ง 10 พรรค รู้ดีว่าที่ได้เก้าอี้ ส.ส. เพราะการคำนวณ ส.ส.แบบปัดเศษ คะแนนเสียงที่ได้ไม่ถึงเกณฑ์ ส.ส. 1 เก้าอี้ด้วยซ้ำ หากลงสนามสู้ศึกเลือกตั้งโอกาสได้เก้าอี้ ส.ส. ยากทวีคูณ
ทั้งหมดคือ “ความพร้อม-ไม่พร้อม” ของพรรคร่วมรัฐบาล หากความขัดแย้งนำไปสู่การ “ยุบสภา” ไพ่ในมือของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่พร้อมใช้กำราบ “พรรคร่วมรัฐบาล” เริ่มไม่ขลังอีกต่อไป 
รอจับตาดูว่าความขัดแย้งของ “พรรคร่วมรัฐบาล” จะคลี่คลายลง หรือเดินเข้าสู่โซนอันตราย ไปยังจุดแตกหัก