ย้อนบทเรียนดราม่า 'ศบค.' หัก 'กทม.'
เป็นอีกครั้งที่ประชาชน "สับสน" การทำงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐ ซึ่งถูกตั้งคำถามถึงความเป็นเอกภาพในการสื่อสารระหว่างกัน
หากนับเวลาจากช่วง 12.30 น.ของวันที่ 31 พ.ค. จนถึงเวลา 19.30 น. เป็นเวลาประมาณ 7 ชั่วโมงครึ่งที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) โดนคำสั่งจากศูนย์บริหารสถานการณ์โค วิด-19 (ศบค.) แตะเบรกเปลี่ยนแปลงมติคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ให้ผ่อนปรนเปิดสถานประกอบการ 5 ประเภท
เหตุผลที่คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.อธิบายถึงการผ่อนคลายเปิดสถานประกอบการ 5 ประเภท มาจากสถานการณ์โควิดส่วนใหญ่จะพบในชุมชน ตลาด แคมป์คนงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าควบคุมโรค และสถานการณ์ระบาดยังทรงตัวอยู่ใน "คลัสเตอร์เฉพาะกลุ่ม" แต่ในส่วนของ "สถานประกอบการ" บางประเภทไม่พบคลัสเตอร์การระบาด
เป็นที่มาของมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ และให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการของรัฐที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยไฟเขียว 5 สถานประกอบการกลับมาเปิดบริการได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้
แต่กลับเป็นคำสั่งใหญ่ที่ส่งตรงมาจาก "ศบค." ให้ กทม.ยึดคำสั่งตามประกาศฉบับที่ 29 เรื่อง "สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว" ให้ขยายระยะเวลาการปิดกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมดออกไปอีก 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. สิ้นสุด 14 มิ.ย.2564
เป็นอีกครั้งที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาจากผู้ประกอบการที่เตรียมความพร้อมเปิดกิจการ จากกลุ่มกิจการสถานที่สักหรือเจาะผิวหนัง ร้านทำเล็บ สถานเสริมความงาม คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ นวดแผนไทย ซึ่งเตรียมเปิดร้านในวันที่ 1 มิ.ย.
โดยเฉพาะเสียงสะท้อนจากคนในสังคมออนไลน์ต่อการ "สื่อสาร" ภายในระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่ออกมาครั้งนี้ ซึ่งมาจากช่องคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ค "กรุงเทพมหานคร โดยสำนักประชาสัมพันธ์" มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นมากกว่า 1.4 พันครั้ง ซึ่งเกือบทั้งหมดได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้นว่า เหตุใดหน่วยงานรัฐจึงไม่สื่อสารกันก่อนกำหนดมาตรการออกมา จนทำให้ประชาชนเกิดความสับสนต่อนโยบายอีกครั้ง
เพราะหากยังจำกันได้ก่อนหน้านี้ ในช่วงการระบาดโควิดรอบแรกในต้นปี 2563 ขณะนั้นภาครัฐได้เร่งออกมาตรการยาแรง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งมีกรณีที่ "นฤมล ภิญโญสินวัฒน์" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เคยออกมาเปิดเผยถึงกระแสข่าวที่ถูกแชร์เป็นจำนวนมากว่า กทม.จะปิดห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในวันที่ 22 มี.ค.2563 ซึ่งการให้ข่าวของ "โฆษกรัฐบาล" ขณะนั้นเป็นวันเดียวที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ กทม.กำลังประชุมเพื่อหา "ข้อสรุป" ในมาตรการนี้ว่าจะออกมาอย่างไร
ประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดความสับสนอยู่ที่ "ห้วงเวลา" ของข่าวที่ออกมา เพราะก่อนที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ กทม. จะมีมติเป็นทางการว่าจะมีการ "ปิดห้าง" หรือไม่ แต่เป็นช่วงเดียวกับที่โฆษกรัฐบาลออกมาให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้ในเวลา 12.12 น.ของวันที่21 มี.ค.2563 ว่า อำนาจการสั่งปิดห้างอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งกำลังมีการหารือมาตรการต่างๆ ดังนั้นขอให้ประชาชนรอแถลงอย่างเป็นทางการ และรอฟังประกาศหรือความคืบหน้าจากราชการ แต่ขอให้หยุดการแพร่ข่าวที่ไม่มีที่มาที่ไป
แต่แล้วมีการ "ตีความ" ข้อมูลที่ถูกส่งต่อในสังคมออนไลน์ ไปถึงประเด็นที่โฆษกรัฐบาลออกมาอธิบายในช่วงนั้นว่า กระแสการ "ปิดห้าง" ไม่ใช่ข่าวจริง จนกระทั่งผ่านมาเพียงไม่กี่นาทีที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ออกมาแถลงข่าวในเวลา 12.23 น. ภายหลังเสร็จสิ้นประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ กทม. โดย กทม.มีคำสั่งปิด 26 จุดเสี่ยงทั่วกรุง รวมถึงห้างสรรพสินค้า จนทำให้ประชาชนสับสนในข้อมูลขณะนั้นว่าสุดท้ายควรเชื่อควรมูลจากแหล่งใดมากที่สุด
เช่นเดียวกันความสับสนของประชาชน จากคำสั่งที่ กทม.ฉบับที่ 16 เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2564 ที่ออกมาช่วงเวลา 12.12 น. เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมเวลารับประทาน "ในร้าน" อาหารตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. ทั้งที่ก่อนหน้านี้ที่ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. ออกมาแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.มีมติกำหนดให้ร้านอาหารทุกประเภท เปิดให้รับประทานในร้านได้ถึง 19.00 น.เท่านั้น
แต่ภายในวันเดียวกันช่วงเวลา 16.30 น. กลับเป็นคำสั่งที่มาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่ง กทม.ให้ขยายเวลามาตรการนี้ออกไปจากเดิมให้นั่งกินในร้านได้ในเวลา 19.00 น. แต่ให้ขยายไปถึงเวลา 21.00 น. ภายหลังมีข้อเรียกร้องจากสมาคมภัตตาคารที่เสนอเข้ามาที่รัฐบาล
กระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดที่ กทม.โดน ศบค.เปลี่ยนแปลงคำสั่งอีกครั้ง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมามีคำสั่งชะลอการเปิดสถานประกอบการ 5 ประเภทออกไปอีก 14 วัน จนทำให้ฝ่ายบริหาร กทม.เร่งปรับเปลี่ยนประกาศที่เตรียมไว้ให้เป็นไปตามคำสั่งของ ศบค.
จากเหตุการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงกลางปี 2564 ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นอีกครั้งที่ประชาชน "สับสน" การทำงานบูรณาการระหว่างระหว่างหน่วยงานรัฐ ซึ่งถูกตั้งคำถามถึงความเป็นเอกภาพในการสื่อสารภายใน จะพาให้คนในสังคมผ่านสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ไปได้หรือไม่.