การเมือง
'เรวัต' ชี้ 'รัฐบาล' เสนอจีดีพีทิพย์-ผิดกฎหมาย ด้าน 'อาคม' ยันตัวเลขถูกต้อง
ส.ส.เสรีรวมไทย บวกยอดหนี้ของรัฐบาล พบยอดรวม 62.58 สูงเกินกรอบกฎหมาย ชี้ตัวเลขจีดีพี ไม่จริง รัฐบาลเสนอรายละเอียดผิดกฎหมาย ด้าน รมว.คลัง ตอบโต้ ตัวเลขจริง เลขหนี้ไม่รวมเงินกู้5แสนล้านบาท
นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายงต่อที่ประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ว่า ตามรายงานของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พบว่า มียอดหนี้สาธารณะ รวม 8.5 ล้านบาท แต่ยอดหนี้แท้จริง ต้องบวกกับเงินกู้ 7 แสนล้านบาท และตามพ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ อีก 5 แสนล้านบาท จะพบว่าตัวเลขหนี้สาธารณรวม 9.7 ล้านล้านบาท ดังนั้นตัวเลขของหนี้สาธารณะที่รัฐบาลเสนอตามเอกสารนั้นคือตัวเลขปลอมและไม่จริง ดังนั้นเมื่อรวมยอดหนี้จากการกู้เงิน พบว่าจะทำให้มียอดหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศ เท่ากับ 62.58
“รัฐบาลเสนอ ร่างพ.ร.บ.งบฯ 65 แบบปลอมๆ และ มั่ว รวมถึงผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดว่า รัฐบาลต้องมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ไม่เกิน 60% แต่ขณะนี้มียอดถึง 62.58 ถือว่ามียอดหนี้เกินกว่ากฎหมายกำหนด ทั้งนี้ภาษาสมัยใหม่จะเรียกจีดีพีที่แสดงว่า จีดีพีทิพย์” นพ.เรวัต อภิปราย
นพ.เรวัต อภิปรายด้วยว่าสำหรับการฉีดวัคซีนซิโนแวค ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ หากพบว่ามีการเปิดเมือง เชื่อว่าจะมีโอกาสเกิดระบาดรุนแรงได้ ตลอดปี 2564 - 2565 ตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ดี และพบว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพี สูงกว่า 62.58 ทั้งนี้การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 เกิดได้ตลอดเวลา ดังนั้นองค์ความรู้และประสบการณ์สำคัญ ไม่ใช่ว่าให้ทหารนั่งหัวโต๊ะแล้วจะเอาอยู่
ต่อจากนั้น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงทันที ว่า เพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนต่อการคำนวณหนี้สารณะของประเทศล่าสุดอยู่ที่ 54.91 ต่อจีดีพีตามที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะได้แถลง อย่างไรก็ดีตามที่มีผู้อภิปรายว่า ในการตั้งงบประมาณฯ 65 ขาดดุล จำนวน 7 แสนล้านบาท และจะมีเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน อีก 5 แสนล้านบาท จะทำให้มียอดหนี้สาธารณะสะสม ซึ่งข้อเท็จจริงในตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้เกิดขึ้น จึงไม่สามารถนับได้ ทั้งนี้การเกิดของหนี้สาธารณะนั้น เมื่อพบการขาดดุล รายได้ไม่พอกับรายจ่ายย ไตรมาสใด สำนักบริหารหนี้สาธารณะต้องกู้เงินเพื่อให้เพียงพอ ซึ่งจำนวนการกู้เงินดังกล่าวไม่ใช่กู้ก้อนเดียว แต่จะกู้ตามจำนวนที่เพียงพอกับรายจ่าย ตามความจำเป็นของแต่ละเดือน
“หนี้สะสมของประเทศ ไม่ใช่การสะสมตลอด แต่ระหว่างปี กำหนดให้มีการจ่ายเพื่อชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตามกำหนด ซึ่งแต่ละเดือนจะมีความเคลื่อนไหว ทั้งนี้การกู้เพิ่ม หรือ การปรับโครงสร้างหนี้นั้น จะมียอดที่ลดและเพิ่มในแต่ละเดือน ทั้งนี้ตัวเลขจีดีพี และเลขหนี้สาธารณะที่อยู่ในเอกสารงบประมาณนั้นตรงกันทุกตัวเลข” นายอาคม ชี้แจง.