ย้อนรอยคำสัญญา“ประยุทธ์” ยุค คสช.เลื่อนเลือกตั้ง “4 ครั้ง”
ไทม์ไลน์เร่งงานคณะรัฐมนตรีใน 1 ปีโค้งสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะใช้ยุทธวิธีเดิมด้วยการกำหนดเงื่อนไขเวลาเพื่อสยบกระแสยุบสภา สยบความเคลื่อนไหวนักการเมือง และความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล
สิ้นเสียง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม สั่งการให้ “คณะรัฐมนตรี” เร่งทำผลงานในช่วง 1 ปี ที่เหลือของรัฐบาล เพื่อนำเสนอผลงานให้ “ประชาชน” ได้รับทราบ ทำให้บรรดา “นักการเมือง” ต่างคาดหมายวัน ว. เวลา น. การยุบสภา เพื่อเตรียมตัวลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะหากไม่เตรียมตัว-เตรียมกระสุน ให้พร้อม ออกตัวช้ากว่าคู่แข่ง อาจจะเพลี่ยงพล้ำได้
หากศึกษาจากยุทธวิธีของ “พล.อ.ประยุทธ์” แล้ว การออกมาบอกไทม์ไลน์ยุบสภา คงมีเป้าหมายที่ต้องการจะสื่อสาร เพื่อดับกระแส-ลดแรงกดดัน จากพรรคร่วมรัฐบาลและทุกภาคส่วน
หากย้อนอดีต ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. พล.อ.ประยุทธ์ เคยสัญญาเกี่ยวกับการเลือกตั้งหลายครั้ง โดยผิดสัญญาจากคำพูดตัวเอง 5 ครั้ง แม้จะผิดสัญญาแต่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ มองแล้วว่า การส่งสัญญาณบอกไทม์ไลน์เลือกตั้ง คือการดับกระแสต่อต้าน ซึ่งคุ้มกับการได้อยู่ต่อ
“กรุงเทพธุรกิจ” รวมคำสัญญาของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยอมผิดคำสัญญา 5 ครั้งมานำเสนอ เพื่อเป็นข้อมูลอ่านใจผู้นำรัฐบาล ภายหลังออกมาส่งสัญญาณให้คณะรัฐมนตรีเร่งผลงานใน 1 ปี
ผิดสัญญาครั้งแรก เมื่อวันที่ 9ก.พ.2558 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “อีกไม่นานร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะเสร็จสิ้น คาดว่าจะจัดการเลือกตั้งได้ในช่วงต้นปีหน้า (ปี 2559)”
ทว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีมติ 135 ต่อ 105 งดออกเสียง 7 คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกมธ.ยกร่างฯ เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2558
ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเลื่อนเลือกตั้งออกไป ตามเงื่อนไขที่เปิดช่องไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 21 คนขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญถาวรให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน
ผิดสัญญาครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2558 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน 180 วัน และจัดให้มีการลงประชามติ หากประชาชนเห็นด้วย ก็ยกร่างกฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้ง คาดว่าจะสามารถประกาศการเลือกตั้งได้ภายในกลางปี 2560” แต่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงโรดแมพเลือกตั้งสูตร “6-4-6-4” แบ่งเป็น ร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ทำประชามติ 4 เดือน จัดทำกฎหมายลูก 6 เดือน และเตรียมหาเสียงเลือกตั้ง 4 เดือน รวม 20 เดือน
สอดคล้องกับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่อ้างว่าต้องทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ ใช้เวลาจัดทำถึง 8 เดือน เมื่อกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว ให้จัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน โดยเงื่อนไขระยะเวลาการร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกครั้ง จากที่เคยสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งช่วงกลางปี 2560
ผิดสัญญาครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวระหว่างการเข้าพบ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า "ประเด็นการเดินหน้าประชาธิปไตยสากลของไทยทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมพ โดยในปี พ.ศ.2561 จะประกาศวันเลือกตั้งโดยไม่มีการเลื่อนใดๆ”
ต่อมาวันที่ 10 ต.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ แถลงข่าวย้ำอีกว่า "ประมาณเดือน มิ.ย.2561 จะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และประมาณเดือน พ.ย.2561 จะมีการเลือกตั้ง”
แต่สุดท้ายก็ซ้ำรอยเดิม เมื่อมีอภินิหาริย์ทางกฎหมายในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ในชั้นกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อมีการปรับแก้ ในมาตรา 2 กำหนดให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุกเบกษา 90 วัน ส่งผลให้โรดแมพการเลือกตั้งต้องเลื่อนจากเดือน พ.ย. 2561 ไปโดยปริยาย
ผิดคำสัญญาครั้งที่สี่ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2661 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เลือกตั้งเดือน ก.พ. 25662 โน่น ไม่ต้องมาถามตรงนี้ มันเป็นตามขั้นตอนอยู่ เลือกตั้งยังไงก็ ก.พ. ผมพูดยืนยันอย่างนี้นะ เลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้นในเดือน ก.พ.2562”
ทว่าเมื่อถึงต้นปี 2562 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เข้าหารือคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ถึงขั้นตอนการจัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับวันเลือกตั้ง เกรงว่าการเลือกตั้ง 24 ก.พ. จะเกิดปัญหา จึงให้เลื่อนเลือกตั้งไปในเดือน มี.ค.
ท้ายสุดเมื่อทุกอย่างลงล็อค ปัจจัยหลายด้านเอื้ออำนวยให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในสภาพที่พร้อมมากที่สุด จึงมีการจัดการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.2562 และ พล.อ.ประยุทธ์ก็กลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ตามความคาดหมาย
ดังนั้นไทม์ไลน์เร่งงานคณะรัฐมนตรีใน 1 ปีโค้งสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะใช้ยุทธวิธีเดิมด้วยการกำหนดเงื่อนไขเวลาเพื่อสยบกระแสยุบสภา สยบความเคลื่อนไหวนักการเมือง และความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล