'นักวิชาการ' เชื่อรัฐบาลอยู่ครบเทอม เร่งงาน 1 ปี-ลดขัดแย้งการเมือง
"นักวิชาการ" เชื่อรัฐบาลอยู่ครบเทอม เร่งงาน 1 ปี-ลดขัดแย้งการเมือง จับตา "พลังประชารัฐ" กินรวบ พรรคร่วมฯไม่กล้าแตกแถว
ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า จากท่าทีนายกฯกำชับรัฐบาลปีนี้ถึงปีหน้าจะต้องเร่งทำผลงานให้เป็นรูปธรรมนั้น เป็นความพยายามผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมือง แต่ถือว่าเป็นยุทธวิธีนีบถอยหลังเพื่อรอการกินรวบ เพราะที่ผ่านมาการทำงานของรัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มกำลังจากการมีพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้การออกผลงานของรัฐบาลไปถึงช่วงการรอวัคซีนโควิดเข้ามาในปริมาณเพียงพอในช่วงปลายปีนั้นรัฐบาลจะมีสัญญาณเป็นบวก เพื่อให้เกิดภาพว่าเป็นผลงานของรัฐบาลในรูปแบบ "คำสั่งเดียว" แต่การรวบอำนาจเด็ดขาดลักษณะนี้จนนำไปสู่การเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์เป็นอุปสรรคไม่ให้เกลี่ยเก้าอี้รัฐมนตรีภายในพรรคพลังประชารัฐได้เต็มที่ ดังนั้นหากมีการเลือกตั้งภายใต้กติกาเดิมเชื่อได้ว่า พรรคพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น
ผศ.วันวิชิต กล่าวต่อว่า ประกอบกับการประชุมคณะกรรมการบริหารของพรรคพลังประชารัฐในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ หากไม่มีการเลื่อนประชุม โดยมีชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่นั้น เท่ากับว่าเป็นการเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้ง เพราะในเมื่อกติกาไม่เปลี่ยน จะทำให้พรรคพลังประชารัฐได้รับความสนใจจากนักการเมือง เรียกว่าถ้าสู้ไม่ได้ก็มารวมกันดีกว่า และจากกติกาเดิมเชื่อได้ว่าพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะได้ตัวเลข ส.ส.ลดลง เพราะต่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบก็ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบโดยมีพรรคพลังประชารัฐ เพื่อไทย และภูมิใจไทย ซึ่งพรรคภูมิใจไทยจะเสียเปรียบพรรคพลังประชารัฐ และเพื่อไทยในพื้นที่อีสานส่วนพรรคเพื่อไทยก็กลับมาเป็นรัฐบาบได้ยาก ดังนั้นท่าทีรัฐบาลขณะนี้เป็นการนับถอยหลังเพื่อรอกินรวบ
ผศ.วันวิชิต กล่าวอีกว่า สำหรับการนับถอยหลังการเลือกตั้งนั้นให้มองจากพรรคพลังประชารัฐเป็นหลักจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพรรค แต่หากพิจารณาให้เห็นถึงอายุของรัฐบาลชุดนี้จะครบในช่วงปี 2566 นั้น หากนับเดือน มิ.ย.2565 ให้เป็นฐานการออกผลงานของรัฐบาลใน 1 ปีนับจากนี้ เท่ากับว่าเมื่อถึงช่วงเวลา มิ.ย.2565 เหตุใดรัฐบาลชุดนี้ไม่รออีกไม่เกิน 1 ปีให้อยู่ครบตามอายุรัฐบาลในปี 2566 ดังนั้นสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์พูดออกมาครั้งนี้เป็นการโยนหินถามทาง และเพื่อเปลี่ยนกระแสกดดันจากกรณีการแก้ปัญหาโควิดของศบค.
ผศ.วันวิชิต กล่าวด้วยว่า ขณะที่การปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ไม่น่าจะใจถึงมากพอ เพราะไม่นั้นพรรคร่วมรัฐบาลจะกดดันรัฐบาลมากขึ้น เพียงแต่การขบเหลี่ยมของพรรคภูมิใจไทยที่ผ่านมาโดยให้นายศุภชัย ใจสมุทร นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ซึ่งเป็นส.ส.ของพรรคออกมาพูด แต่ระดับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย หรือนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กลับยังไม่ได้พูดอะไรออกมา และยังท่าทีนายกฯช่วงหลังที่ออกมาขอโทษ หรือแสดงความเสียใจด้วยภาษาที่ราบเรียบมากขึ้น
สำหรับปัจจัยชี้วัดการยุบสภานั้น ผศ.วันวิชิต มองว่า หากกลุ่มผู้สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ถอนตัวออกมา ในช่วงที่สถานการณ์โควิดคลี่คลาย จะทำให้การเมืองบนท้องถนนกลับมาเข้มข้นมากขึ้น โดยมีการทวงสัญญาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากมีการยุบสภาในกลางปี 2565 จริง จะทำให้วาระของ ส.ว.มีเวลากับรัฐบาลชุดใหม่มากขึ้นอีก 2 ปี ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะได้นายกฯเป็นคนเดิม ดังนั้นกติกาปัจจุบันที่ผู้มีอำนาจยังได้เปรียบอยู่นั้น ก็เป็นการรอกินรวบทางการเมืองให้ไหลเข้าสู่พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งการส่งสัญญาณจากนี้อีก 1 ปีเพื่อเป็นการเคาะให้เห็นว่าใครจะมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่
เชื่อรัฐบาลอยู่ครบเทอม-พรรคร่วมฯไม่กล้าแตกแถว
มาที่ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ขณะนี้เหลือเวลาอีก 2 ปีจะครบวาระรัฐบาลชุดนี้ ทำให้ระยะเวลา 1 ปีที่นายกฯ ประกาศเร่งผลงานนั้นตนคิดว่ายังเป็นสัญญาณปกติ ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่นายกฯจะยุบสภาเร็ววันที่มาจากกระแสที่เกิดขึ้น แต่เป็นการกระตุ้นให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เร่งทำงาน แต่ภายในพรรคพลังประชารัฐก็มองว่าการยุบสภาก็มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะอย่าลืมว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่นักการเมืองมีความกังวลในการใช้ทรัพยากร การลงพื้นที่ หรือความไม่แน่นอนว่าจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ นอกจากนี้อาจมีปัจจัยการเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย และปัจจัยการพิจารณางบประมาณประจำปี 2565 ซึ่งผ่านวาระที่ 1 ไปแล้วซึ่งคาดว่าจะผ่านวาระ 3 อย่างเรียบร้อย ก็เป็นส่วนชี้ให้เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆและได้พูดถึงเรื่องนี้ออกมา
ขณะที่ความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยนั้น รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเป็นเพียงเกมการเมืองตามปกติ เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการลงมติงบประมาณประจำปี 2565 รวมถึงการพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทในสภานั้น ก็ไม่เห็นการแตกแถวของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคขนาดกลางที่จะชี้วัดรัฐบาลได้ เพราะการร่วมรัฐบาลของทั้ง 2 พรรคนี้ได้ร่วมรัฐบาลเพื่อเลือกตั้งในครั้งหน้า จึงเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าต้องอยู่กับรัฐบาลไปก่อนในระยะใหญ่ขณะเดียวกันโอกาสที่รัฐบาลจะผ่านวาระครบ 2 ปีในเดือน ส.ค.นี้ เชื่อว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) แน่นอน เพราะครบวงรอบการทำงานของรัฐบาลพอดี เมื่อรวมกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัจจัยโควิด-19 หรืองบประมาณประจำปี 2565 ที่น่าจะผ่านสภาได้เรียบร้อย น่าจะมีการทบทวนบุคคลในการวางตัวในแต่ละตำแหน่ง ทำให้อาจนำไปสู่การตัดสินใจปรับ ครม.ของพล.อ.ประยุทธ์ได้
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวด้วยว่า ส่วนปัจจัยนำไปสู่การยุบสภานั้นยังเชื่อว่าเกิดขึ้นได้ยาก ถึงแม้จะมีสถานการณ์เศรษฐกิจและโควิด-19 แต่เรื่องการชุมนุมนอกสภาขณะนี้ไม่มีอยู่แล้ว รวมถึงการต้องคดีความจากแกนนำการชุมนุมเอง ดังนั้นหากการชุมนุมจะกลับเร็วที่สุดคงเกิดขึ้นในปี 2565 ทำให้ในช่วงนี้สถานการณ์การเมืองนอกสภาไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่สถานการณ์ในสภาเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็คงไม่มีปัญหาอะไร ถึงแม้จะมีเรื่องรอยร้าวบ้างสุดท้ายก็น่าจะจบลงด้วยดี แต่ปัจจัยที่ต้องระวังมาจากความเดือดร้อนของประชาชนมากกว่าจากปัญหาเศรษฐกิจและโควิด-19 ซึ่งไม่เรื่องขั้วอุดมการณ์ทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง เพราะหากมีปัญหาเศรษฐกิจหรือสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดหนักเช่นเดียวกับประเทศอินเดียนั้น ก็อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลถึงการยุบสภาได้.