ครม.เห็นชอบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พบโควิดสร้างขยะพลาสติกเพิ่ม
ครม.เห็นชอบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พบโควิด-19 สร้างปัญหาขยะพลาสติกเพิ่มจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และอาหารเดลิเวอรี่
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.64 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 2563 จำนวน 11 สาขา มีดังนี้ สาขาที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น 7 สาขา ได้แก่
- ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน พบว่ามีพื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น
- ทรัพยากรแร่ การผลิตและการใช้แร่ลดลง
- พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น
- ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงเพิ่มขึ้น
- ความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่ชุ่มน้ำที่ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น
- สิ่งแวดล้อมชุมชน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น
- สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สถานภาพแหล่งธรรมชาติที่ควรอนุรักษ์ไว้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี
สำหรับสาขาที่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ควรเฝ้าติดตาม มี 4 สาขา ประกอบด้วย
- ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า พบว่า พื้นที่ป่าไม้คงที่ แต่พื้นที่ไฟไหม้ ความรุนแรงของไฟไหม้รวมทั้งจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนสัตว์ป่าหลายชนิดอยู่ในสถานการณ์ที่ควรเฝ้าติดตาม
- ทรัพยากรน้ำ ปริมาณฝนลดลง ทำให้ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำใช้การได้ลดลง รวมทั้งน้ำบาดาลมีระดับลดลงด้วยเช่นกัน
- สถานการณ์มลพิษ คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่เมืองใหญ่ หมอกควันจากไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายจากชุมชนเพิ่มขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นและปริมาณฝนเฉลี่ยลดลง
ขณะที่การคาดการณ์แนวโน้มอนาคต มีเรื่องที่สำคัญดังนี้คือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน แนวทางแก้ไข ต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการกำหนดกลยุทธ์ การจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการ มีพื้นที่ที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนปัญหาเรื่องฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 มีปริมาณเกินค่ามาตรฐาน เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง และปัญหาไฟไหม้ป่ามีพื้นที่ที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน ได้แก่ พื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือ 9 จังหวัด พื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง ป่าพรุบาเจาะและป่าพรุโต๊ะแดง
ขณะเดียวกันปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ได้แก่ การมีพลาสติกเป็นองค์ประกอบของขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นจากการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และสั่งซื้ออาหารแบบเดลิเวอรี่ รวมถึงมีมูลฝอยติดเชื้อจากผู้ที่ต้องสังเกตอาการและผู้ที่ติดเชื้อปะปนในขยะมูลฝอยชุมชน มีแนวทางแก้ไขปัญหาเช่น การปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
ส่วนกรณีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ควรมีการคำนึงถึงการลดปริมาณขยะมูลฝอยและคัดแยกขยะที่ต้นทาง และพิจารณาคัดแยกมูลฝอยติดเชื้อใส่ถุงขยะ 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่นและระบุข้อความว่า “ถุงขยะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว” ไว้ที่ถุงให้ชัดเจน และส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยมีพื้นที่ดำเนินการเร่งด่วนได้แก่ พื้นที่เขตเมืองในทุกจังหวัด ชุมชนแออัด พื้นที่สาธารณะที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายมาตรการระยะสั้น 1-2 ปี ได้แก่ พัฒนาการใช้ระบบฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อม คุ้มครองพื้นที่ที่มีความสำคัญหรือมีความอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนมาตรการระยะยาว 3-10 ปี ได้แก่ ส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม และผลักดันการวิจัยและนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมสู่การปฏิบัติ