'ศรีสุวรรณ' ร้องสอบประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน

'ศรีสุวรรณ' ร้องสอบประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน

"ศรีสุวรรณ" ร้อง นายกฯ ใช้ ม.11 ตั้งคณะ กก.พิเศษ สอบประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 64 ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ทำเนียบรัฐบาล นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยและนายพลภาขุน เศรษฐบดี แกนนำคณะราษฎรไทยแห่งชาติ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตั้งกรรมการสอบการประมูลรถไฟทางคู่สายใหม่ที่ส่อพิรุธ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำการเปิดประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงของ 323 กม. มูลค่าก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท และสายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-นครพนม 355 กม. มูลค่าก่อสร้าง 54,684.40 ล้านบาท เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่า ผู้ชนะการประมูลสายเหนือเสนอต่ำกว่าราคากลางเพียง 61 ล้านบาท จากราคากลาง 72,918 ล้านบาท ส่วนสายอีสานเสนอต่ำกว่าราคากลางเพียง 46 ล้านบาท จากราคากลาง 55,456 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งส่อเค้าว่าจะมีการล็อกสเปกโดยการเขียนข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างหรือทีโออาร์ ให้ผู้รับเหมา 5 กลุ่มได้แบ่งเค้กกัน ด้วยการกีดกันไม่ให้ผู้รับเหมาขนาดกลางเข้ามาแข่งขันราได้ ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณไปกว่า 10,000 ล้านบาท


162425208422

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ว่า ในรัฐบาลผมต้องไม่มีการคอรัปชั่น ดังนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำความมายื่นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิสูจน์เรื่องดังกล่าว โดยร้องขอให้ใช้อำนาจตามพรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 ม.11 (1) คือ แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มีการเขียนข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างหรือทีโออาร์ และดำเนินการจัดประมูลโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ สายเหนือ และสายอีสาน ทำให้รัฐเสียประโยชน์เมื่อเทียบกับการจัดประมูลทางรถไฟสายใต้ช่วงนครปฐม-ชุมพร เป็นการส่อไปในทางขัดต่อพรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ประกอบ พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 หรือไม่ อย่างไร


นอกจากนั้น ยังขอให้สั่งการไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ รฟท. ระงับการลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ รฟท.ประกาศให้เป็นผู้ชนะการประมูลเสีย และยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าวเสีย โดยอาศัยข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างหรือทีโออาร์(TOR) ในข้อ 6.6 และข้อ 6.7 ที่กำหนดไว้ว่า ก่อนลงนามในสัญญา การรถไฟแห่งประเทศไทย อาจประกาศยกเลิกการประกวดราคา อิเล็กทรอนิกส์ หากปรากฏว่ามีการกระทำที่เข้าลักษณะผู้ยื่นข้อเสนอที่ชนะการประกวดราคาหรือที่ได้รับการคัดเลือกมีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือมีส่วนได้เสียกับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น หรือขัดขวางการแข่งขันอย่างเป็นธรรม หรือสมยอมกันกับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น หรือเจ้าหน้าที่ในการเสนอราคา หรือส่อว่ากระทำการทุจริตอื่นใดในการเสนอราคา ซึ่ง รฟท. สามารถประกาศยกเลิกผลการประกวดราคา เพื่อประโยชน์ทางราชการได้ ซึ่งหากทำได้ก็จะเป็นการพิสูจน์ว่านายกรัฐมนตรีเอาจริงเอาจังต่อการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างแท้จริง