การเมือง
'ก้าวไกล' เสนอใช้ระบบMMP ปรับใช้กับเลือกตั้ง2ใบ ชี้แก้ปัญหาระบบเลือกตั้ง ตาม 'รธน.40'
ประชุมรัฐสภา อภิปรายต่อเป็นวันที่สอง "ก้าวไกล" เรียกร้องคว่ำร่างแก้รัฐธรรมนูญ ของ "พลังประชารัฐ" เชื่อพยายามกินรวบสภา แนะใช้ระบบ mmp คำนวณส.ส.พึงมีเข้าสภา - ด้าน ส.ว. เริ่มเห็นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมร่วมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.05 น.
โดยก่อนเข้าสู่การอภิปรายนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานวิปรัฐบาล หารือเพื่อร้องขอให้นายพรเพชร ควบคุมการประชุมให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะคารมระหว่าง ส.ส. และส.ว. ที่อาจทำให้มีปัญหาต่อการอภิปรายและเวลาที่จะใช้ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้เริ่มลงมติเวลา 16.00 -22.00 น.
จากนั้น ได้เข้าสู่การอภิปราย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล อภิปรายเสนอแนะให้ปรับปรุงการออกแบบระบบเลือกตั้ง จากที่เสนอให้ใช้การเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่มีปัญหาและจุดอ่อน พร้อมเสนอให้ใช้ระบบการคำนวณคะแนนแบบ เอ็มเอ็มพี คือ ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อเลือกส.ส.เขต และ บัญชีรายชื่อ ส่วนการคำนวณ หาส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมีในสภาฯ ให้ใช้คะแนนจากการเลือกบัญชีรายชื่อ คำนวณส.ส.ที่พึงมี หากมีพรรคที่ได้คะแนนเลือกตั้ง 20% จะได้ส.ส.เข้าสภา 20% จะทำให้โกงด้วยสูตรคำนวณไม่ได้ และเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมา สำหรับส.ส.เขตที่ชนะให้ถือว่าได้เป็นส.ส. และหากพรรคใดได้ส.ส. ไม่ครบตามจำนวนที่พึง มี ให้เติมเต็มจากบัญชีรายชื่อตามลำดับ
“การเลือกตั้งปี 2540 เกิดปรากฎการณ์ ส.ส. มากเกินจริงของพรรคใหญ่ หากกำหนดสัดส่วนที่เป็นธรรม จะสามารถตรวจสอบ ถ่วงดุลและมีความหลากหลาย หากไม่เห็นด้วยที่มีพรรคเล็กมากเกินไป สามารถกำหนดคะแนนขั้นต่ำที่เป็นธรรม ของตัวแทนประชาชนที่จะมีสิทธิ์ได้เป็นส.ส. ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดขั้วการเมืองเหมือนที่เจอปี 2540 และทำให้สภาฯ เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ ปัจจุบันและอนาคต” นายปดิพัทธ์ อภิปราย
นายปดิพัทธ์ อภิปรายเรียกร้องให้รัฐสภา ปฏิเสธร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ส่อเจตนากินรวบสภา และขอให้คว่ำในวาระหนึ่ง และเรียกร้องให้รัฐสภาสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการคืนอำนาจให้ประชาชน ใช้การออกเสียงประชามติ ถามประชาชนให้มีส.ส.ร.ออกแบบระบบเลือกตั้งให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม อย่างไรก็ดี
ทางด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่ากรณีที่รัฐสภาจะลงมติรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐที่ขอแก้มาตรา 144 และ มาตรา 185 อาจจะมีปัญหา ว่า ในชั้นกรรมาธิการจะปรับแก้ได้หรือไม่ เพราะอาจเป็นการแก้ไขที่เกินหลักการ ดังนั้นหากไม่รับในเรื่องการออกแบบของระบบเลือกตั้งยังกำหนดไว้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายของส.ว. นั้นส่วนใหญ่ยังแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขมาตรา 144 และ มาตรา185 ที่เปิดช่องให้นักการเมือง แทรกแซงการทำงานของข้าราชการ รวมถึงล้วงลูกงบประมารแผ่นดิน รวมถึงการปรับระบบเลือกตั้ง และการแก้ไขมาตรา 45 ที่ตัดสิทธิของสมาชิกพรรคในการมีส่วนร่วมของพรรคการเมืองต่อการกำหนดตัวบุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้งและนโยบายของพรรการเมือง ทั้งนี้มีส.ว.ที่แสดงความเห็นด้วยต่อข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ต่อการใช้ระบบเอ็มเอ็มพีในระบบเลือกตั้งใหม่ อาทิ นายพลเดช ปิ่นประทีป ส.ว.เป็นต้น.