'ม็อบ 24 มิถุนา' ทดสอบมวลชน กลยุทธ์'เบรกเกม'แก้รัฐธรรมนูญ
เมื่อ ม็อบไม่ทน และม็อบราษฎร พร้อมใจกันขยับลงถนน โดยไม่รอรัฐบาลหาวัคซีนมาฉีดให้ครบทั้งประเทศ แรงกดดันจึงกลับไปซ้ำเติมรัฐบาลและนายกฯ อย่างเลี่ยงไม่ได้
เว้นวรรคกันไปหลายเดือน อันเนื่องจากแกนนำถูกจับกุม และถูกคุมขังระหว่างรอการประกันตัว ประกอบกับช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ทำให้กิจกรรมชุมนุมไล่รัฐบาลของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ต้องยุติไปโดยปริยาย
รุ่งสางวันที่ 24 มิ.ย.2564 แกนนำกลุ่มราษฎรมากันพร้อมหน้า รวมถึงผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล ไม่ว่าจะเป็น “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อานนท์ นำภา “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
เนื่องจากเป็นไฟท์บังคับ พวกเขาจึงต้องมาจัดกิจกรรมรำลึก “89 ปี อภิวัฒน์สยาม” และประกาศเจตนารมณ์ “ราษฎรยืนยันดันเพดาน”
ภาคเช้า กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร ปี 2475 หลังจากนั้น กลุ่มทะลุฟ้าได้เป็นแม่งานเคลื่อนขบวนไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพรรคการเมือง แสดงจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ภาคค่ำ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มีกิจกรรม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” ที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน โดยมีองค์กรเครือข่ายร่วมจัดอีเวนท์ ได้แก่ กลุ่มเฟมมินิสต์ปลดแอก กลุ่ม Wevo กลุ่ม FreeArts และกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมในลักษณะแฟลชม็อบอีกหลายจังหวัด
มีข้อน่าสังเกตว่า กิจกรรมของกลุ่มราษฎรในวันนี้ ยังไม่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือม็อบรีเด็ม
อานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร ย้ำว่า การชุมนุมครั้งแรกในรอบ 3-4 เดือน เพื่อยืนยันในข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มราษฎร เนื่องจากช่วงแกนนำราษฎรหลายคนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ได้มีความพยายามปล่อยข่าวจากฝ่ายตรงข้าม เพื่อ “ลดเพดาน” การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่
การที่แกนนำกลุ่มราษฎรตัดสินใจยอมรับเงื่อนไขของศาลในการปล่อยตัวชั่วคราว ก็คงประเมินดูแล้วว่าอยู่ข้างนอกคุกจะสามารถทำกิจกรรมอะไรได้มากกว่า
เหนืออื่นใด “อานนท์” ต้องการแสดงตัวให้มวลชนได้เห็นว่า เงื่อนไขการประกันตัวไม่เป็นอุปสรรคในการจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง ฉะนั้นกิจกรรมรำลึก 24 มิถุนา จึงเป็นการทดสอบกำลังมวลชนว่า ยังหนาแน่นเหมือนเดิมหรือไม่
“ไผ่ จตุภัทร” จึงบอกกับสื่อมวลชนว่า การชุมนุมจะเป็นไปอย่างสันติและสงบ ไม่มีการปิดล้อมรัฐสภา ไม่มีการล้มร่างรัฐธรรมนูญ
อาศัยจังหวะที่รัฐสภา กำลังมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ กลุ่มราษฎรจึงจัดขบวนเดินเท้าไปที่อาคารรัฐสภา แสดงจุดยืนเรื่องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ
1.รัฐธรรมนูญไทย จะต้องสามารถแก้หมวดที่ 1 และ 2 เพราะกลุ่มมองว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน การพูดคุยและถกเถียงกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องปลอดภัยและสามารถทำได้เป็นเรื่องธรรมดา รวมถึงการแก้ไขต้องเป็นไปได้จริงตามระบบประชาธิปไตย
2.รัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน ทั้งผู้ร่างและตัวรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปตามเสียงของประชาชน
3.รัฐธรรมนูญใหม่ต้องไม่เขียนกลไกที่นำไปสู่การสืบทอดอำนาจ
ที่จริงแล้ว ข้อเสนอ 3 ข้อข้างต้นของกลุ่มราษฎร ก็เป็นเรื่องเดียวกันกับกลุ่ม Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ กำลังรณรงค์ล่ารายชื่อผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับรื้อระบอบประยุทธ์
กลุ่ม Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ เกิดจาก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้ชูแคมเปญนี้มาแต่ก่อนโควิดระบาด โดยมีเป้าหมายแก้รัฐธรรมนูญ คู่ขนานกับพรรคก้าวไกลที่เคลื่อนไหวในสภาฯ
นี่คือภาพการทำงาน 2 ขาของกลุ่มธนาธร เหมือนช่วงปี 2554 พรรคเพื่อไทย ได้กำหนดยุทธศาสตร์ 2 ขา คือ เพื่อไทยกับ นปช. จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์
หากว่ามีการยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ กลุ่มราษฎร และแนวร่วมกลุ่มต่างๆ ก็ไม่ต่างจาก “ขบวนกองเชียร์พรรคก้าวไกล”
เฉพาะหน้า ธนาธรและพรรคก้าวไกล ต้องหยุดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยกติการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ (รัฐธรรมนูญ 2540) ให้ได้
ดังนั้น การดึงกลุ่มราษฎรลงถนนอีกครั้ง ในจังหวะนี้ก็เป็นผลดีแก่พรรคก้าวไกล หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรครัฐบาลร่วงหมด ก็ถือว่า“เป็นชัยชนะของกลุ่มธนาธร”
“ม็อบ 24 มิถุนา” จึงเป็นการขยับของ“กลุ่มราษฎร” ประสาน “ธนาธร” กดดันสภาฯ เพื่อเบรกเกมแก้รัฐธรรมนูญของพลังประชารัฐ