คดีเก่าปิดฉาก“จตุพร” ปิดเกม“ม็อบไทยไม่ทน”
เส้นทางแกนนำมวลชนอย่างจตุพร เหมือนรู้ชะตากรรมว่าคดีเก่าที่ติดตัวอีกมาก ยังไล่ล่าเขาได้ทุกเมื่อ เพื่อ“ปิดเกม”การขับเคลื่อนขบวนการใหม่ “ไทยไม่ทน” ไล่ “ประยุทธ์” และไม่รู้ว่าวันไหนจะต้องเดินเข้าเรือนจำอีกกี่คดี
คดีที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้อง “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช.เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้นับโทษคดีที่สองต่อจากคดีเเรกเมื่อคดีเเรกถึงที่สุด ที่ศาลได้อ่านคำสั่งศาลฎีกา เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2564
โดยศาลฎีกามีคำสั่งให้นับโทษต่อคดีหมายเลขดำ อ.4176/2562 หมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 2 กระทง กระทงละ 6 เดือน รวม 12 เดือน คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2560 และทางศาลอาญาได้ออกหมายขังจำคุกคดีถึงที่สุด
ก่อนหน้านี้ “จตุพร” เคยถูกจำคุกคดีนี้แล้ว 14 วัน จึงต้องนำมาหักจากโทษจำคุก 12 เดือน รวมต้องจำคุกอีก 11 เดือน 16 วัน และวันนี้จตุพรก็กลับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีกครั้ง
คดีเก่าไล่ล่าจังหวะนี้ ส่งผลกระทบต่อการแผนเคลื่อนไหวการเมืองของ “กลุ่มไทยไม่ทน” อย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้จตุพร ประกาศยุทธศาสตร์่นัดชุมนุมทุกเสาร์ ไล่นายกฯ ต่อเนื่อง 3 เดือน
เหมือนจะรู้ชะตากรรม เพราะก่อนหน้าที่จะขึ้นไปฟังคำสั่งศาล จตุพรได้บอกกับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมคณะไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย ในวันเสาร์ที่ 10 ก.ค.นี้ว่า จะไม่มีจัดการชุมนุมใดๆ แต่จะไปร่วมคาร์ม็อบแทน
หลังได้ข่าวศาลพิพากษาจำคุกจตุพร “สมบัติ บุญงามอนงค์” หรือ บ.ก.ลายจุด โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ไม่ว่าคุณจะคิดยังไงกับ จตุพร พรหมพันธุ์ เมื่อสักครู่เมื่อศาลตัดสินจำคุกคดีหมิ่นฯนายอภิสิทธิ์ เขาโทรมาหาผมและพูดว่า ‘พี่จำเป็นต้องเข้าคุกอีกรอบ ฝากภารกิจ(ไล่ประยุทธ)ให้น้องดำเนินการต่อ ขอให้ประสบความสำเร็จ’..”
ดังที่ทราบกัน ขบวนการไทยไม่ทน จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. จับมือ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 โหมโรง “ไล่ประยุทธ์” ตั้งแต่เดือน มี.ค.2564 วันที่ 4 เม.ย.2564
“ตู่ จตุพร” นัดชุมนุม “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ที่อนุสรณ์พฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน มีคนเสื้อแดงมาร่วมจำนวนหนึ่ง บังเอิญมีโควิดระบาดรอบใหม่ จตุพรจึงยุติการชุมนุม และย้ายไปจัดเวที “ปราศรัยออนไลน์” ภายในสตูดิโอพีซทีวี
วันที่ 24 มิ.ย.2564 จตุพรนำคณะไทยไม่ทนลงถนน ก็เจอสถานการณ์ “ม็อบจุดไม่ติด” อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด เหนืออื่นใด แกนนำไทยไม่ทน อย่าง วีระ สมความคิด และไทกร พลสุวรรณ ไม่ใช่แกนนำที่มีมวลชนเป็นของตัวเอง
แม้กระทั่ง 30 องค์กรฝ่ายประชาธิปไตย มีแต่ “หัว” กับ “ชื่อ” ไม่มีมวลชนเช่นกัน จริงๆ แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกไม่พอใจการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาด แต่การที่พวกเขาไม่เข้าร่วมการชุมนุมกับคณะไทยไม่ทน ก็น่าจะมีเหตุผลเรื่องความศรัทธาในตัวผู้นำมวลชน ปี 2564 สถานการณ์เปลี่ยน ไม่ใช่ยุคคนเสื้อแดง ไม่ใช่เวลาของแกนนำมวลชนยุคทีวีดาวเทียม มิตรสหายแยกทาง
ก่อนที่จตุพรจะเคลื่อนทัพลงถนน ก็มีข่าวร้ายสำหรับคนเสื้อแดง เมื่อผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่องพีซทีวี ประกาศยุติการออกอากาศ ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.2564 เนื่องจากขาดทุนสะสมมาหลายปี
“จตุพร” เพิ่งโยกย้ายพีซทีวี จากชั้น 5 อิมพีเรียล ลาดพร้าว มาอยู่ที่ทำการสถานีโทรทัศน์พีซทีวีแห่งใหม่ ซอยรามอินทรา 40 ได้ไม่ถึงปี ลึกๆแล้ว จตุพรไม่อยากปิด “จอแดง” เพราะยังห่วงทีมงานอีกร้อยกว่าชีวิต ที่พึ่งพารายได้จากพีซทีวี แต่ระยะหลัง “สปอนเซอร์ฝ่ายการเมือง” ไม่ได้ให้การสนับสนุนเหมือนในอดีต เขาจึงตัดสินใจสละเรือพ่วง
มีข้อน่าสังเกต จตุพร กับ “อารี ไกรนรา” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ ตัดญาติขาดมิตรกัน โดยจตุพรบอกว่า ตอนที่อภิปรายไม่ไว้วางใจและแก้ไขรัฐธรรมนูญ “อารี” โหวตสวนมติพรรคเพื่อชาติ
นับจากวันที่ “อารี” อำลากลุ่มแกนนำ นปช.สายจตุพร ก็เกิดปัญหาสภาพคล่องภายในช่องพีซทีวี จนกระทั่ง จตุพรยอมกลืนเลือด ปิดทีวีจอแดง วันนี้ มีคนเห็นอารี ไปเดินป้วนเปี้ยวอยู่แถวสำนักพรรคพลังท้องถิ่นไท และมีความสนิทสนมกับ “บิ๊กเนม” ฝ่ายรัฐบาล
เส้นทางแกนนำมวลชนอย่างจตุพร เหมือนรู้ชะตากรรมว่าคดีเก่าที่ติดตัวอีกมาก ยังไล่ล่าเขาได้ทุกเมื่อ เพื่อ“ปิดเกม”การขับเคลื่อนขบวนการใหม่ “ไทยไม่ทน” ไล่ “ประยุทธ์” และไม่รู้ว่าวันไหนจะต้องเดินเข้าเรือนจำอีกกี่คดี
จากนี้ไป แม้จะอยู่ในคุก แต่เขาก็ฝากความหวังไว้ที่สารพัดม็อบ ที่กำลังรุกไล่รัฐบาลจากวิกฤติโควิด โดยคาดหวังว่าปัญหาสาธารณสุขจะถูกยกระดับเป็นเรื่องการเมือง ที่รัฐบาลคงอยู่ได้ยาก