เกมขย่ม “3 ป.” เขย่า “รัฐบาล” ขุด “บ้านหลวง-นาฬิกาเพื่อน”
การหาช่องเอาผิด พี่น้อง “3 ป.” ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ พ่วง พล.อ.อนุพงษ์ ส่อเค้าเจอทางตัน เช่นเดียวกับคุ้ยภาษี “นาฬิกาเพื่อน” 18 ล้าน เพื่อตรวจสอบ พล.อ.ประวิตร ที่ต้องลุ้นว่าจะขยายผลได้หรือไม่
แม้คำตัดสินของ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ เมื่อปลายปี 2563 จะเป็นที่ประจักษ์ การอยู่อาศัยบ้านพักทหาร (บ้านหลวง)ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือผิดจริยธรรมร้ายแรง จนทำให้ความเป็น ‘นายกฯ’ สิ้นสุดลง ส่วนที่กองทัพบกสนับสนุนค่าไฟฟ้า และค่าประปา สามารถทำได้
แต่นั่นก็ไม่ทำให้ฝ่ายค้านรามือ และยังใช้กลไกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เป็นช่องทางตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้ส่วนหนึ่งจะปฏิบัติตามหน้าที่ แต่อีกนัยหนึ่งย่อมหวังผลสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล
ด้วยการเดินหน้าตรวจสอบ บ้านพักหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังมีการเปิดประเด็นเรื่องการใช้ ‘น้ำฟรี-ไฟฟรี’ เท่ากับรับผลประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือไม่ ตามคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.
ปัจจุบัน พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ตัดปัญหาด้วยการสั่งแก้ไขระเบียบการเข้าพักบ้านหลวงเพิ่มเติม โดยไม่มีการสนับสนุนค่าน้ำ-ค่าไฟ ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อยู่อาศัยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าว ตั้งแต่รอบบิลเดือน เม.ย.2564 เป็นต้นมา ซึ่ง
ครอบคลุมไปถึง กลุ่มทหารเกษียณอายุราชการ แต่มีสิทธิ์พักบ้านหลวงได้ตามระเบียบกองทัพบก ในฐานะทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ ตั้งแต่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา และองคมนตรี
เรื่องดังกล่าวมีทีท่าว่าจะจบ แต่ก็ยังไม่จบ หลัง กมธ.ป.ป.ช.สภาฯ พบข้อมูลเพิ่มเติมว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก็เป็นหนึ่งที่พักอาศัยบ้านหลวงตั้งแต่เกษียณอายุราชการ เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จึงขยายผลหาช่องทางเอาผิด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหาข้อสรุปว่าจะเชิญมาตรวจสอบ หรือขอข้อมูลจากส่วนราชการต่างๆ ก่อนเดินหน้าต่อ
ความจริงแล้ว ข้อมูลที่ กมธ.ป.ป.ช.พบไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อต้นปี 2563 พล.อ.อนุพงษ์ เคยชี้แจงผ่านสื่อถึงความจำเป็นที่ยังพักบ้านสวัสดิการทหาร ทั้งที่มีบ้านพักส่วนตัวอยู่แล้ว เพราะไม่สะดวกในการเดินทาง โดยส่วนตัวสนับสนุนกองทัพบกในการจัดระเบียบบ้านพักสวัสดิการทหาร และไม่ว่าระเบียบจะออกมาอย่างไรก็พร้อมปฏิบัติตาม
พล.อ.อนุพงษ์ เป็นอดีต ผบ.ทบ. และปัจจุบันอยู่ในคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามระเบียบกองทัพบกกำหนด โดยอยู่ในกลุ่มผู้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงมีสิทธิ์พักบ้านหลวง เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์
แม้ กมธ ป.ป.ช. จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การประปานครหลวง(กปน.) มาให้ข้อมูลเพื่อตรวจสอบว่า พล.อ.อนุพงษ์ รับผลประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือไม่ แต่คงได้คำตอบไม่ต่างกับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่สามารถยืนยันได้ เพราะในสารบบไม่ปรากฎชื่อความเป็นเจ้าของ
เช่นเดียวกับการเชิญ เจ้ากรมกิจการทหารบกมาให้ข้อมูล ก็คงได้รับคำตอบไม่ต่างกัน เพราะ พล.อ.อนุพงษ์ก็อาศัยบ้านหลวงมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน แม้จะเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2553 ไปแล้วก็ตาม ส่วนค่าน้ำค่าไฟก็รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองตามระเบียบใหม่ของกองทัพบกทุกประการ
เห็นได้ชัดว่า การหาช่องเอาผิด พี่น้อง “3 ป.” ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ หวังพ่วง พล.อ.อนุพงษ์ แม้จะรู้ปลายทางอยู่แล้วว่า น่าจะเจอทางตัน เช่นเดียวกับคุ้ยภาษี “นาฬิกาเพื่อน” 18 ล้าน เพื่อตรวจสอบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องลุ้นว่าจะขยายผลได้อีกหรือไม่ เพราะหลังคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้ว่ากรณีถือครองนาฬิกาหรู ที่อ้างว่ายืมเพื่อน ไม่เป็นความผิด และไม่ต้องรายงานในบัญชีทรัพย์สิน ก็ดูเหมือนเรื่องนี้จะไปต่อไม่ได้
ดังนั้นไม่ว่า กมธ.ปราบโกง จะตามขุดตามคุ้ยเท่าไหร่ ก็อาจทำได้แค่ดิสเครดิส เพราะที่สุดแล้วคงไม่สามารถเอาผิดใครได้ แม้แต่คนเดียว ทว่าการขย่ม “พี่น้อง 3 ป.” ที่กุมอำนาจการเมือง ย่อมหวังผลเขย่ารัฐบาลในช่วงขาลงให้แรงยิ่งขึ้น !