เปิด 5 โจทย์นายกฯ ‘สู้ต่อหรือพอได้แล้ว’
กระแสนายกฯพระราชทาน-ทักษิณกลับบ้าน และการลาออก ใช่ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะไม่รับรู้ถึงกระแสสังคม มีข้อมูลว่า “ทีมงานนายกฯ” สอบถามไปยังผู้ทรงคุณวุฒิ ตรงๆว่า "ท่านนายกฯสมควรลาออกหรือไม่"
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ประเด็น “นายกฯพระราชทาน” เวลานี้ตีคู่มากับข่าว “ทักษิณกลับบ้าน” และ “ลุงตู่ลาออก” ขณะที่สื่อบางแขนงอ้างแหล่งข่าวความมั่นคงยืนยัน นายกฯไม่ลาออกแน่นอน
แต่ก็ไม่ใช่ว่า นายกฯ และทีมงาน จะไม่รับรู้ถึงกระแสสังคม แต่มีข้อมูลว่า “ทีมงานของนายกฯ” ได้สอบถามไปยังผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายต่างๆ ที่ช่วยงานรัฐบาล ถามตรงๆ "ท่านนายกฯสมควรลาออกหรือไม่"
ประเด็นที่เขาใช้ในการพิจารณาเพื่อเสนอแนวทางการตัดสินใจ มีอยู่ 4-5 ข้อดังนี้
1.ถ้านายกฯลาออก ใครจะมาแทน และทำได้ดีกว่านายกฯหรือไม่
2.สถานการณ์ขณะนี้ เป็นเพราะนายกฯไม่มีฝีมือ หรือโควิดร้ายแรงจริง
3.กลุ่มที่เคลื่อนไหวไล่นายกฯ เป็นคนเดิมๆ หรือขยายวงไปมากกว่ากลุ่มคนหน้าเดิม
4.เจตนาของกลุ่มที่เคลื่อนไหว ต้องการล้มนายกฯ หรือไปไกลกว่านั้น
5.ถ้าม็อบไม่หยุดชุมนุมหลังนายกฯออก จะเกิดจลาจลหรือไม่
มีรายงานด้วยว่า จาก5ข้อตามที่กล่าวมา ส่วนหนึ่งประเมินสถานการณ์ว่านายกฯ "ยังไม่ควรลาออก" เพราะ คนที่อยู่ในข่ายจะขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งก็คือผู้มีรายชื่อเป็น “แคนดิเดตนายกฯ” ในบัญชีพรรคการเมือง ซึ่งเหลืออีก 5 คน ก็ไม่ได้มีคุณสมบัติดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอย่างเห็นได้ชัด
ที่สำคัญ จุดแข็งในเรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกองทัพและตำรวจ เป็นคุณสมบัติที่ “แคนดิเดตรายอื่น” ดูจะด้อยกว่า พล.อ. ประยุทธ์ ขณะที่นายกฯยังได้รับการยอมรับจากข้าราชการน้อยใหญ่ด้วย เพราะตัวนายกฯเป็นข้าราชการมาตลอดชีวิต
ส่วนสถานการณ์โควิดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ เป็นวิกฤติร้ายแรงที่ทั่วโลกเผชิญ และปัญหาที่พบปัจจุบัน ทั้งอเมริกาและยุโรปเคยเจอมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งสถานการณ์ที่ไทยเจออยู่ในปัจจุบัน ยังดีกว่าสภาพเลวร้ายที่หลายประเทศเคยเจอ และขณะนี้หลายๆ ประเทศทั่วโลกกลับมาเผชิญการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่อีกครั้ง
สำหรับท่าทีของม็อบ ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า เป้าหมายที่แท้จริงไม่ได้จบแค่นายกฯ ฉะนั้นถ้านายกฯลาออกแล้วม็อบไม่หยุดชุมนุม แต่รุกคืบขยับเพดานข้อเรียกร้องให้สูงขึ้นไปอีก และมีการเคลื่อนไหวจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง ก็จะมีประชาชนผู้จงรักภักดีออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน และอาจเกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมืองได้
มีการประเมินด้วยว่า หากมาตรการล็อกดาวน์ที่ประกาศอยู่นี้ “เอาไม่อยู่” สถานการณ์โควิดจะร้ายแรงที่สุดในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งอาจมีม็อบใหญ่ของกลุ่มผู้เดือดร้อนจากปัญหาโควิดและเศรษฐกิจ ซึ่งบางส่วนถูกปลุกปั่นจากกลุ่มที่ต้องการล้มรัฐบาล หากบ้านเมืองเดินไปถึงจุดนั้น โอกาสที่นายกฯจะ “อยู่ต่อยาก” ก็มีสูง เพราะม็อบที่มีมวลชนจำนวนมาก โดยไม่ได้จัดตั้งมา
จากการประเมินสถานการณ์ในภาพรวม ล่าสุดวันนี้ก็เริ่มมีแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ออกมายืนยันแล้วว่า “นายกฯลุงตู่” ไม่ลาออก และจะอยู่ต่อไปจนครบวาระ ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 ปี (หมดวาระปี 2566)
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบ ระหว่างฝ่ายที่เห็นว่านายกฯต้องลาออก กับฝ่ายที่ยืนยันว่า “นายกฯไม่ต้องออก” เริ่มจาก
ประเด็นแรก ฝั่งที่อยากให้ออก ก็เรียกร้องให้นายกฯลาออก จะได้เลือกนายกฯใหม่
แต่ฝั่งที่ไม่อยากให้นายกฯลาออก ก็บอกว่า แคนดิเดตที่มีอยู่ ดีกว่า “นายกฯลุงตู่” จริงหรือไม่ ถ้าไม่ได้ดีกว่า หรือพอๆ กัน จะเปลี่ยนม้ากลางศึกไปเพื่ออะไร
ประเด็นที่ 2 ฝั่งที่อยากให้ออก เรียกร้องให้นายกฯยุบสภา จะได้เลือกตั้งใหม่ ล้างไพ่กันใหม่
แต่ฝั่งที่ไม่อยากให้นายกฯออก ก็บอกว่ายุบสภา เลือกตั้งใหม่ตอนนี้ ระหว่างที่โควิดระบาดหนัก เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ประชาชนมากเกินไปหรือไม่
ประเด็นที่ 3 ฝั่งที่อยากให้นายกฯพ้นๆ ไปบอกว่า ถ้านายกฯออก สิ่งที่จะเกิดขึ้นทันที อย่างน้อยม็อบก็หยุดชุมนุม จะเป็นการปลดล็อกให้การเมืองเคลื่อนไปข้างหน้า คนต่อต้านจะน้อยลง และความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจจะมีมากขึ้น
แต่ฝั่งที่ไม่อยากให้นายกฯออก ก็มองว่า ม็อบจะไม่หยุดแค่ไล่นายกฯ เหมือนกับที่ฝ่ายความมั่นคงประเมิน ซึ่งเรื่องนี้ก็พูดยากว่าหากเกิดขึ้นจริง สถานการณ์จะเป็นอย่างไรกันแน่
ประเด็นต่อมา คือ ฝั่งที่อยากให้นายกฯออก เรียกร้องให้มีนายกฯพระราชทาน หรือนายกฯนอกบัญชี หรือนายกฯคนกลาง หรือรัฐบาลแห่งชาติ
แต่ฝั่งที่ไม่อยากให้นายกฯออก บอกว่า เรื่องนายกฯพระราชทาน เลิกฝันได้เลย เพราะรัฐธรรมนูญไม่เปิดช่อง ส่วนนายกฯนอกบัญชี และรัฐบาลแห่งชาติ ต้องใช้ “เสียงข้างมากแบบพิเศษ” จากที่ประชุมรัฐสภา คือ 500 เสียงจาก 750 เสียง คำถามคือช่วงที่การเมืองแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายแบบนี้ จะหาเสียงสนับสนุนมากขนาดนั้นได้อย่างไร โดยไม่มีคนค้าน
ประเด็นสุดท้าย คือ ภารกิจของนายกฯคนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนายกฯนอกบัญชี หรือรัฐบาลแห่งชาติก็ตาม ฝ่ายสนับสนุนมองว่า การจะมี “นายกฯนอกบัญชี” ได้ ต้องได้รับแรงสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทั้ง ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.
ฉะนั้นภารกิจสำคัญคือการนำพาบ้านเมืองฝ่าวิกฤติใหญ่ เพราะผู้นำที่ได้รับการยอมรับลักษณะนี้ ก็จะสามารถระดมความร่วมไม้ร่วมมือได้ อาจจะรวมไปถึงการแก้ไขกติกาประเทศให้มีความเป็นธรรม เป็นกลาง ไม่เอื้อประโยชน์ฝ่ายใด
เมื่อคลี่คลายวิกฤติใหญ่ และแก้ไขกติกาจบแล้วก็จัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้รัฐบาลประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายยอมรับ ถอดสลักวิกฤติขัดแย้งเหมือนที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีต ส่วนประเทศไทยจะพัฒนาขึ้นหรือแย่ลง ก็ขึ้นกับทุกฝ่ายจะช่วยกันประคับประคอง
ส่วนฝ่ายที่เห็นว่านายกฯไม่ควรลาออก ก็บอกว่า จริงๆ แล้วสถานการณ์หลังจากนี้น่าจะดีขึ้น โดยที่ “บิ๊กตู่” ไม่ต้องลาออก เพราะดอกผลจากการแก้ไขปัญหากำลังจะเกิด เช่น ผู้ติดเชื้อรายวันจะมีแนวโน้มลดลง เมื่อใช้มาตรการเข้มงวดครบ 14 ถึง 28 วัน จากนั้นวัคซีน mRNA ก็จะทยอยเข้ามา ทั้งไฟเซอร์ และโมเดอร์นา
ขณะที่สถานการณ์ในต่างประเทศก็ไม่ได้ดีไปกว่าไทย ยุโรปและอเมริกา หรือแม้แต่อิสราเอล กำลังเผชิญกับการระบาดรอบใหม่
ฉะนั้น “บิ๊กตู่อยู่ต่อ” ก็ไม่น่าจะมีปัญหา และเดินหน้าไปสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้นแน่นอน