'ฝ่ายค้าน'ร้อง'ป.ป.ช.' ฟัน ม.157 'ประยุทธ์' ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง
"พรรคร่วมฝ่ายค้าน" ร้อง "ป.ป.ช." เอาผิด "ประยุทธ์" ออกข้อกำหนด ฉ.29 ขัดรธน. ผิด ม.157 ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง ชี้ มีเจตนาทางการเมือง ลดกระแสวิจารณ์แก้ "โควิด" จนความนิยมตกต่ำ ทั้งศาลแพ่ง คุ้มครอง เสรีภาพการนำเสนอ
ที่สำนักงานป.ป.ช. แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน และส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นเรื่องถึงประธานคณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อขอไต่สวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. ถึงการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเนื้อหาในหนังสือที่ยื่นต่อป.ป.ช. ระบุว่า นายกฯ โดยความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรี ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมา
นายกฯ ยังได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกข้อกำหนดแล้ว จำนวน30 ฉบับ เพื่อกำหนดมาตรการและข้อปฏิบัติเพื่อมุ่งที่จะควบคุมการระบาดของโควิด ให้คลี่คลายโดยเร็ว แต่ข้อกำหนด ฉบับที่ 29 ข้อ1 ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ข้อ 2 ในกรณีมีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเทอร์เน็ต ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงานกสทช.)แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมทุกรายทราบ และให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวทุกรายมีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมีที่มาจากเลขที่อยู่ไอพี(IP address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตามที่สำนักงาน กสทช. กำหนด ให้สำนักงาน กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที
จนเกิดการทักท้วงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากบรรดาผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการและประชาชนทั่วไปว่าข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการละเมิดเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน อันเป็นการกระทำ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่ง จนมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และคำสั่งระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29
โดยศาลระบุว่า ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ มีลักษณะไม่แน่ชัด ขอบเขตกว้างทำให้สื่อมวลชน ประชาชนไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 วรรคหนึ่งและมาตรา35 วรรคหนึ่งบัญญัติคุ้มครองไว้ เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ข้อกำหนดดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ หรือแนวทางในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่
ส่วนข้อ2 ที่ให้อำนาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต เป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐสั่งปิดพื้นที่หรือล็อคดาวน์ ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้จำกัดเฉพาะการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต สำหรับการกระทำครั้งที่เป็นเหตุแห่งการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคตด้วย ปิดกั้นการสื่อสารของบุคคลและเป็นการปิดกั้นสุจริตชน ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าว ไม่ต้องด้วยมาตรา36 วรรคหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญ การให้ข้อกำหนดทั้งสองข้อดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปอาจทำให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้
อย่างไรก็ตาม การออกข้อกำหนด ฉบับที่ 29 น่าจะมาจากกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาการระบาดของโควิดได้ ประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ เป็นเหตุให้คะแนนนิยมในตัวของพล.อ.ประยุทธ์ ตกต่ำลงอย่างมาก ตรงกันข้ามการที่สื่อมวลชนและประชาชนได้เสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการะบาดของโรคโควิด กลับจะเป็นผลดี ต่อประชาชนที่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารถึงภยันตรายดังกล่าว เพื่อจะได้ป้องกันตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัยจากโรค
ดังนั้น เหตุผลในการออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นเหตุผลที่มีเจตนาหรือมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเพื่อต้องการลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของตนเองไม่ใช่เหตุผลและเงื่อนไขตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
การกระทำของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ออกข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 จึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เข้าข่ายกระทำความผิดอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 172
นอกจากนี้ การกระทำของพล.อ.ประยุทธ์ ยังเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ซึ่งให้นำมาใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีด้วย ตามข้อ 8 ข้อ 11 ข้อ 12 และข้อ 13 จึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป