เปิดข้อสั่งการนายกฯ ! เบรก 'ATK' ให้จัดหา 'ชุดตรวจโควิด-19' สเปค WHO รับรอง
อ่านข้อสั่งการนายกฯ ให้ ศปก.สธ. เร่งหา "ชุดตรวจโควิด-19" หรือ "ATK" ที่ผ่านการรับรองจาก WHO และ อย. มีขายในประเทศไทย ได้มาตรฐานสากล ผลตรวจแม่นยำ จัดส่งได้ในเวลาที่กำหนด
จากกรณีการจัดหาชุดตรวจโควิด-19 หรือ ATK เพื่อนำมาบริการให้กับประชาชนจำนวน 8.5 ล้านชุด มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ที่กลายเป็นปมความขัดแย้งระหว่าง 2 หน่วยงานจัดหาอย่าง องค์การเภสัชกรรม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนนำไปสู่ข้อเสนอเรียกร้องจากหลายฝ่ายถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ให้ใช้ภาวะผู้นำในวิกฤติโควิดทบทวนการจัดซื้อ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุดครั้งนี้
ล่าสุด การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้มีบันทึกข้อสั่งการของนายกฯ ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาในการดำเนินงานโดยเร่งด่วน ในหลายประเด็น อาทิ เร่งจัดหาวัคซีนมาฉีดโดยเร็วที่สุด การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก นำผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษา เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังได้สั่งการให้เร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบ Antigent test kit (ATK) ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในประเทศไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องมีความแม่นยำในการตรวจ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด
โดยหลังจากที่ มีข้อสั่งการของนายกฯ ออกมานั้น ชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4 “มติ ครม. 17 สิงหาคม 2564 ทางออกทางลงสำหรับการจัดซื้อ ATK เจ้าปัญหา” โดย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ใจความระบุถึงประเด็น ความเห็นต่างในการการประมูลชุดตรวจโควิด-19 หรือ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด โดยองค์การเภสัชกรรม ที่มีความไม่สบายใจอย่างสูงจากผู้ใช้ทั้งโรงพยาบาลต่างๆและภาคประชาชนที่จะรับการตรวจต่อการที่องค์การเภสัชกรรมยืนยันจะจัดซื้อตามผลการประมูลที่ได้บริษัทออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เสนอ ATK ยี่ห้อ LEPU บัดนี้มีทางออกทางลงแล้ว
กล่าวคือ มติคณะรัฐมนตรีได้ระบุชัดเจนถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในหน้า 53 วงเล็บ 6 ระบุว่า “การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kit: ATK) ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจเพื่อนำสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด”
ทั้งนี้ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีใน มติ ครม.นี้มีความชัดเจนมาก และสอดคล้องกับการแก้ปัญหาการระบาดหนักของโรคโควิด ทางชมรมแพทย์ชนบทจึงต้องขอแสดงความขอบคุณต่อท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้มีข้อสั่งการที่ชัดเจนและทันท่วงทีมา ณ โอกาสนี้
สำหรับขั้นตอนในการจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุดนั้น ยังอยู่ระหว่างการจัดทำสัญญา ซึ่งยังมีขั้นตอนการลงนามในสัญญาอีกหลายขั้นตอน จึงยังทันที่จะระงับการลงนามในสัญญาเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
ทางชมรมแพทย์ชนบทหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากมติคณะรัฐมนตรีและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่มีความชัดเจนและตรงไปตรงมาในเรื่องจัดหาชุดตรวจ ATK นี้ จะทำให้ปัญหาการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ที่เกิดความสับสนและมีข้อกังขานี้คลี่คลายจบลงไปในทางที่ดีอย่างรวดเร็ว ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่จะได้รับชุดตรวจ ATK ที่มีมาตรฐานระดับองค์การอนามัยโลกรับรอง เพื่อประสิทธิผลในการควบคุมโรคโควิดที่ระบาดหนักในปัจจุบัน ให้เกิดการรักษาพยาบาลที่ทันเวลา ลดความสูญเสียลงให้เร็วที่สุด
สำหรับการจัดซื้อชุดตรวจโควิด-19 หรือ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุดนั้น มีที่มาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นั้นทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้มีผู้ติดเชื้อใหม่จำนวน 1-2 หมื่นรายต่อวัน ซึ่งการตรวจแบบ RT-PCR จึงมีข้อจำกัด คนไข้ต้องรอนานและทำให้การป้องกันควบคุมโรคทำได้ล่าช้า เป็นที่มาของการนำ Antigen test kit (ATK)แบบทั้งแบบ Professional use หรือใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และแบบ Self-use หรือประชาชนตรวจด้วยตนเองมาใช้
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเสวนาออนไลน์ผ่าน Facebook เรื่อง "กางแผน สธ. สปสช. แจกชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนตรวจโควิดด้วยตัวเอง ที่ไหน เมื่อไหร่ ใครบ้างมีสิทธิได้รับ?" เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 ระบุว่า สำหรับแนวทางการตรวจด้วย ATK ด้วยตัวเองแล้วพบว่ามีผลเป็นบวก ใน กทม.สามารถโทรเข้าสายด่วน 1330 เพื่อให้ช่วยจับคู่ผู้ป่วยกับหน่วยบริการทำ Home Isolation และถ้ามีอาการ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีโรคเรื้อรังหรือผู้สูงอายุ ก็จะให้ยาให้เลย
นอกจากนี้อาจให้ญาติพี่น้องนำผลตรวจไปที่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการที่แจกชุดตรวจให้ หรือโรงพยาบาลจัดช่องทางสื่อสารให้ส่งภาพถ่ายไปให้ดู โดยที่ผู้ติดเชื้อไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน ถ้าอาการสามารถดูแลแบบ Home Isolation ก็ไม่ต้องตรวจซ้ำ แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้นก็จะมี Fast Track พาเข้าโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขก็ใช้โรงพยาบาลบุษราคัมเป็น Fast Track ให้
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อถึงจุดๆหนึ่งต้องรบกวนให้ประชาชนตรวจด้วยตัวเอง ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อประมาณวันละ 1 หมื่นราย 1 เดือนก็ประมาณ 3 แสนราย ผู้ติดเชื้อ 1 รายมีผู้สัมผัสใกล้ชิดที่ต้องรับการตรวจประมาณ 10 ราย หรือ 3-4 ล้านราย ทาง สปสช.ได้จัดงบประมาณจัดหาชุดตรวจ ATK โดยเผื่อกรณีที่ผลเป็นลบ ต้องตรวจซ้ำ และสรุปตัวเลขที่ 8.5 ล้านชุด
แนวทางการกระจายจะแจกให้แก่กลุ่มเสี่ยงผ่านหน่วยบริการ ตั้งแต่โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คลินิกชุมชนอบอุ่น และร้านยา เพื่อที่ว่าเมื่อพบผลตรวจเป็นบวก ผู้ติดเชื้อสามารถติดต่อกลับที่หน่วยบริการนั้นๆ เพื่อประสานเข้าระบบ Home Isolation หรือ Community Isol