กางแผนเจาะ 'ตลาด' กทม. ล็อกคลัสเตอร์ 'ผู้ค้า-แรงงาน' สกัดโควิด
"คลัสเตอร์" ตลาดเป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยงพบการะบาดอย่างหนักในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มาตรการ กทม.จากนี้จะเป็นจุดชี้วัดกราฟผู้ติดเชื้อในตลาดตั้งแต่ ก.ย.เป็นต้นไป
จากตัวเลขผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" ในกรุงเทพฯ มากกว่า 2.7 แสนราย ในสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ 1 เม.ย.2564 ซึ่งที่ผ่านมา มีจุดวิกฤติผู้ติดเชื้อสูงสุดอยู่ในวันที่ 13 ส.ค.มีผู้ติดเชื้อ "นิวไฮ" เพียงวันเดียว 5,140 ราย และเสียชีวิตสูงสุด 119 คน เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา
ถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในภาพรวมประเทศจะต่ำกว่า 2 หมื่นคน แต่หน่วยงาน กทม.ได้วิเคราะห์สถานการณ์ระบาดยังคงในรูปแบบ "ลดลงแบบทรงตัว" ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ประกอบด้วย 1.มาตรการล็อกดาวน์ 2.อัตราผู้ได้รับวัคซีน
แต่ในพื้นที่ "จุดเสี่ยงคลัสเตอร์" ซึ่งเคยเป็นจุดระบาดมากกว่า 100 แห่งที่ผ่านมา ขณะนี้ กทม.ปรับแผนเชิงรุกเพื่อลุยตรวจเพื่อ "ปิดเคส" ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ "ตลาด" ประเภทค้าส่งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่รวมตัวจากผู้ค้าและผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก
"กรุงเทพธุรกิจ" ตรวจสอบไปที่ "กิจการค้าส่งขนาดใหญ่" ในกรุงเทพฯ มีทั้งหมดอยู่ที่ 29 แห่ง และตลาดขนาดใหญ่ที่มีแผงค้ามากกว่า 500 แผงมีจำนวน 12 แห่ง แต่มีตลาดที่มีพื้นที่ติดกันหลายๆ ตลาด 5 แห่ง รวมมีตลาดขนาดใหญ่จำนวน 17 แห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ 11 เขต มีผู้ค้าและแรงงานแผงค้ามากถึง 18,963 คน
สำหรับแผนเฝ้าระวังเชิงรุก-เผชิญเหตุโควิด-19 ในตลาด กทม.ได้กำหนดมาตรการไว้ 3 ระดับ ประกอบด้วย
1.หากพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย จะสั่งปิดเฉพาะแผงค้านั้น 14 วัน และค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม
2.หากพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 คน จะสั่งปิดแผงค้านั้น 14 วัน และให้ตรวจเชิงรุกผู้ค้าในตลาดทั้งหมด
3.หากพบผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 10 จะสั่งปิดตลาด 14 วัน พร้อมสำรวจชุมชนที่พักรอบตลาด จัดทำมาตรการกักตัวในชุมชน(Community Quarantine) และแยกกักตัว Isolation จากนั้นจะเร่งฉีดวัคซีนแก่ผู้ค้า-ชุมชนโดยรอบ
หากตรวจสอบไปที่มาตรการควบคุมโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งรวมถึงกลุ่มตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ถูกกำหนด 3 มาตรการแบ่งเป็น
1.มาตรการ "ป้องกันคน" มีกลุ่มเป้าหมายกลุ่มผู้ค้า ลูกจ้าง แรงงานที่เดินทางเข้าออก และรวมถึงผู้ที่อยู่อาศัยโดยรอบและผู้ซื้อที่เข้าใช้บริการ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A เคร่งครัด โดย กทม.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการและเจ้าของตลาด เสริมด้วยมาตรการ "คัดกรอง" ด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) ในกลุ่มผู้ค้า แรงงานทุกคน ทุกสัปดาห์เป็นเวลา 1 เดือน โดยที่ กทม.จะกำหนดระยะเวลาตรวจ ATK ให้ผู้ประกอบการและเจ้าของตลาดแต่ละแห่ง
2.มาตรการ "ป้องกันสถานที่ตลาด" ให้ประเมินตามแนวทาง TSC+ และ BKK Food Safety App โดยเฉพาะจัดจุดเข้า-ออกทางเดียวหรือให้น้อยลง พร้อมคัดกรองผู้เข้าพื้นที่อย่างเข้มงวด โดยจัดเจ้าหน้าที่ในตลาด ควบคุมกำกับให้ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A รวมถึงจัดระบบ "สุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม" 7 มาตรการประกอบด้วย
1.ให้มีการเว้นระยะห่าง
2.มีการระบายอากาศที่ดี
3.ทำความสะอาดฆ่าเชื้อพื้นผิวสัมผัส
4.จัดระบบลดกิจกรรมสัมผัสใกล้ชิด
5.ห้ามรวมกลุ่มพูดคุย
6.จัดพื้นที่รับประทานอาหารสำหรับผู้ค้า
7.จัดให้มีการจ่ายเงินแบบ Digital ลดการสัมผัสระหว่างบุคคล
3.มาตรการ "เฝ้าระวังควบคุมโรค" จะสุ่มเฝ้าระวังเชิงรุกตามลักษณะของตลาด โดยจัดทำแผนเผชิญเหตุพร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบและซ้อมแผน 3 แนวปฏิบัติ ประกอบด้วย
1.พิจารณากายภาพของลักษณะตลาด
2.จัดเตรียมสถานที่แยกกักและกักกัน รองรับกรณีพบผู้ติดเชื้อ
3.ควบคุมกลุ่มและการเดินทางไปกลับของคนในตลาด
ระหว่างนี้ กทม.แจ้งไปที่ "เจ้าของตลาด" รวบรวม "ข้อมูลพื้นฐาน" ภายในตลาดดังนี้ 1.สำรวจบัญชีแผงค้า 2.สำรวจทะเบียนผู้ค้า ชาวไทยและต่างด้าว 3.สำรวจที่พักอาศัย และเส้นทางเดินของผู้ค้าและแรงงาน 4.สำรวจข้อมูลรับวัคซีนผู้ค้า
จากข้อมูล "สอบสวนโรค" กระทรวงสาธารณสุข-สำนักอนามัย กทม. จะเฝ้าระวัง "คลัสเตอร์" ตลาดทุกแห่งซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยงที่พบการระบาดอย่างหนักในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มาตรการ กทม.ในครั้งนี้เป็น "ด่าน" เฝ้าระวังแนวรับและลุยตรวจเชิกรุก เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และชะลอการแพร่ระบาดในตลาดให้เร็วที่สุด.