"บัตร 2 ใบ" ดีลพรรคใหญ่ “สูตรหลบเขต”สกัดพรรคใหม่
โหวตแก้รัฐธรรมนูญบัตรสองใบ 10 ก.ย.นี้ พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ จับมือเพื่อไทย โหวตผ่านวาระสามขณะที่250 ส.ว. เช็คเสียงนาทีสุดท้าย รอไฟเขียวจาก “3 ป.” คาดแตกแถวเล็กน้อยแต่ไม่กระทบเสียงในภาพรวม จับตาดีลพรรคร่วมรัฐบาลใช้สูตรหลบเขตเลือกตั้ง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างสะบักสะบอม เพราะศึกภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ครั้งนี้หนักสุดตั้งแต่ตั้งพรรค-ตั้งรัฐบาล
จากนี้ไปคงต้องวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ ว่ายอมหัก หรือยอมงอ กับกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ โทษถึงขั้นพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่
ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคพปชร. ก็ต้องวัดใจ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพปชร. ว่าจะยังใช้บริการ ร.อ.ธรรมนัส ต่อ หรือจะเปลี่ยนผู้จัดการพรรคคนใหม่ ตามจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไม่วางใจ ร.อ.ธรรมนัส อีกต่อไป เพราะการเคลื่อนไหวโหวตคว่ำ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี ถือว่าล้ำเส้นอำนาจ 3 ป.เกินตัว
จึงต้องติดตามว่าเมื่อขั้วการเมืองในพรรคพปชร.กำลังจะเปลี่ยนตัวเล่น เกมการเมือง-เกมเลือกตั้ง ที่ ร.อ.ธรรมนัส ผนึกกำลังกับ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาล “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพปชร. เสนอแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือก ส.ส.เขต 400 คน เลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน จากเดิมที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกคน-เลือกพรรค แบ่ง ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน จะเดินต่ออย่างไร
ที่ผ่านมา การเลือกแนวทางนี้ เนื่องจาก “ธรรมนัส-วิรัช-ไพบูลย์” มั่นใจว่าพรรคพปชร.ใหญ่เกินกว่าจะใช้สูตรบัตรเลือกตั้งใบเดียว เพราะหาก ส.ส.เขต ชนะการเลือกตั้งเข้ามามาก จะทำให้พรรคพปชร.ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่เก้าอี้เดียว ซึ่งชะตากรรมจะไม่เหมือนกับพรรคเพื่อไทย (พท.) ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562
ขณะเดียวกันพรรค พท.ก็รู้ดีว่า หากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ โอกาสยากมากที่จะชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ จึงอาศัยจังหวะที่พรรคพปชร.คิดว่าตัวเองเป็นพรรคใหญ่ ไหลตามน้ำ เล่นตามเกม จับมือกับพรรคพปชร.เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญบัตร 2 ใบ
เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ดีดลูกคิดคำนวณแล้วว่า หากกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ยังพอมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นพรรคทางเลือกลำดับต้นๆ เพราะหากมีบัตรเลือกตั้งให้เลือกพรรค ย่อมมีโอกาสได้คะแนนจากฐานกองเชียร์-แฟนคลับ ที่ยังรักมั่นคง-เหนียวแน่น
ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ไม่ขวางทาง เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม หาก “3 ป.” ส่งสัญญาณว่ามาอย่างไรก็พร้อมเทเสียงโหวตตาม
ด้านพรรคขนาดกลาง-พรรคเล็ก ไล่ตั้งแต่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคอื่นๆ ไม่มีพรรคไหนเห็นด้วยอย่างแน่นอน เพราะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์จากการใช้บัตร 2 ใบ เนื่องจากโอกาสได้ ส.ส.เขต มีน้อยหรือแทบไม่มี โอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยิ่งยากมากขึ้น ทำให้โอกาสที่จะได้ ส.ส.เข้าสภาจึงน้อยลงไปด้วย
หากคาดการณ์จากเสียงโหวตของ ส.ส.-พรรคการเมือง ในวาระ 3 ที่จะมีขึ้นวันที่ 10 ก.ย.2564 นี้ คงไม่ต่างจากการลงคะแนนโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญในวาระแรก
โดยพรรคที่ออกเสียงเห็นด้วย ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 134 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 119 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 48 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 12 เสียง พรรคเพื่อชาติ 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา 4 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง
พรรคที่ออกเสียงไม่เห็นด้วย พรรคก้าวไกล 48 เสียง จาก 53 เสียง (งูเห่า 5 เสียง) พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคประชาชาติ 7 เสียง และพรรคเล็กอื่นๆ
พรรคที่งดออกเสียง ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย 61+ (5 งูเห่า) เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง
แม้บางพรรคจะโหวตวาระแรกแตกต่างกันไปบ้าง แต่ไม่ส่งผลต่อภาพรวมของการโหวต
ส่วน ส.ว. พบว่าการโหวตวาระแรก แบ่งเป็น 4 ทิศทาง เห็นด้วย 180 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง ประกอบด้วย นายเจน นำชัยศิริ นายมณเฑียร บุญตัน พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร พล.อ.สกล ชื่นตระกูล งดออกเสียง 19 เสียง และไม่ปรากฎการลงคะแนน 47 เสียง
จะเห็นได้ว่า เสียงของ ส.ว. 180 เสียง ที่โหวตรับร่างวาระแรก เกือบทั้งหมดเป็นสายตรงจาก “3 ป.-คสช.” ส่วนอีก 70 เสียง ที่โหวตในทิศทางแตกต่างออกไป แม้จะมีจำนวนมาก แต่ถือว่าเกินครึ่งยังยึดตามที่ “3 ป.” กดปุ่ม
โดยการโหวตวาระ 3 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนด ให้ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของรัฐสภา ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกรวมกัน 732 คน โดยจำนวนเห็นชอบนั้นต้องประกอบด้วย เสียงส.ว. ไม่น้อกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ที่มี หรือ 84 เสียง
ต้องมีเสียงเห็นชอบจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และพรรคที่ไม่มีบุคคลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือประมุขของสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 20% ของสมาชิกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน หรือประมาณ 45 คน
โดยแนวโน้มการลงมติจะได้รับความเห็นชอบ เพราะมี 3 พรรคการเมืองใหญ่สนับสนุน คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์จากซีกรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยจากซีกฝ่ายค้าน
ดังนั้นเสียงโหวตจากฝั่ง ส.ส.จึงไม่น่ามีปัญหา เพราะถือว่าครบองค์ประกอบตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดเอาไว้ จะเหลือก็เพียง เสียงของ ส.ว.ที่ต้องโหวตเห็นชอบอย่างน้อย 84 เสียงขึ้นไป ซึ่งหากยึดตามวาระแรกก็ไร้ปัญหา
ที่สุดแล้ว ก็ต้องรอดูทิศทางจาก “3 ป.” ในนาที่สุดท้ายว่า จะไฟเขียวให้แก้รัฐธรรมนูญกลับมาใช้บัตร 2 ใบหรือไม่ เพราะคีย์แมนอย่าง “ธรรมนัส-วิรัช” ที่เสนอไอเดียต่อ “บิ๊กป้อม” มีโอกาสหลุดจากแผงอำนาจในพรรค พปชร.สูงอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่า “3 ป.” คิดคำนวณสูตรบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเอาไว้แล้ว โดยมีพรรคภูมิใจไทยอยู่ในสมการนี้ด้วย แต่เหตุที่พรรคภูมิใจไทยออกแอคชั่นไม่เห็นด้วย เพราะ “เนวิน ชิดชอบ" พี่ใหญ่ ผู้กำหนดทิศทางพรรค ระแวงว่าการลงมติแก้รัฐธรรมนูญเกินมาตราที่เสนอแก้ อาจเป็นอันตรายต่อพรรคในอนาคต
ขณะที่ความเคลื่อนไหวใต้ดิน มีการหารือกันระหว่าง “บิ๊กพรรคร่วม” โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐกับพรรคภูมิใจไทย ที่อาจใช้สูตรหลบให้กัน เหมือนการเลือกตั้งซ่อมในหลายครั้งที่ผ่านมา ที่“พรรคร่วมรัฐบาล”หลบให้กันเกือบทุกเขต ยกเว้นการเลือกตั้งซ่อมจ.นครศรีธรรมราช
ผลลัพธ์ที่ออกมาพรรคร่วมรัฐบาลชนะในศึกเลือกตั้งซ่อมทุกครั้ง เพราะ “ขั้วฝ่ายค้าน” ไม่มีใครยอมใคร พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย ส่งผู้สมัครลงไปตัดแต้มการเมืองกันเอง ที่สำคัญเลือกตั้งใหญ่รอบหน้า ยังมีพรรคใหม่ๆ รอลงสนามทั้งพรรคไทยสร้างไทย พรรคเส้นทางใหม่ ที่จะมาคอยตัดแต้ม “ขั้วฝ่ายค้าน” กันเองอีก
บิ๊กพรรคร่วมรัฐบาลเห็นช่องเอาชนะขั้วฝ่ายค้านจึงขับเคลื่อนใช้บัตร 2 ใบสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า แม้จะรู้ว่าสูตรนี้ พรรคเพื่อไทย-คนแดนไกล จะกุมความได้เปรียบ จากกติกาบัตร 2 ใบมาทุกครั้ง
แต่โจทย์หลักของ “3 ป.-บิ๊กพรรคร่วมรัฐบาล” คือการสกัด “พรรคก้าวไกล” ออกจากการเมือง แม้การสกัดออกไปเลยจะยังยาก แต่บัตรเลือกตั้ง 2 ใบจะทำให้พรรคก้าวไกลมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมมาก และอีกทางยังสกัดพรรคเล็กๆ ออกจากสมการทางการเมืองไปได้หมด
ชั่วโมงนี้จึงมีโอกาสสูงที่ “3 ป.-บิ๊กพรรคร่วมรัฐบาล” จะไฟเขียวให้เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยต้องจับตาว่าในวันที่ 10 ก.ย.นี้ เสียงโหวตจะออกมาในทิศทางใด