รื้อระบบเลือกตั้ง วางกติกาใหม่ "บิ๊ก ป."กลับสู่อำนาจไม่ง่าย

รื้อระบบเลือกตั้ง วางกติกาใหม่  "บิ๊ก ป."กลับสู่อำนาจไม่ง่าย

เกมแก้กติกา เพื่อปรับ ระบบเลือกตั้ง ให้สอดคล้องกับความต้องการของ "ผู้มีอำนาจ" และหวังจะกลับมามีอำนาจ อีกครั้งหลังเลือกตั้ง แน่ชัดว่าไม่มีอุปสรรคใดขวางอีก แต่ต้องดูให้ดี สำหรับ การเมือง นอกสภา ก่อนการเลือกตั้ง ยังมีอุปสรรค และปัญหา ให้สู้กันอีกหลายยก

          เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า “เกมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ” ของพรรคการเมือง ฝั่งที่ค้านปรับระบบเลือกตั้งตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งรัฐสภา เสียงข้างมาก 472 เสียงลงมติผ่านวาระสาม เมื่อ 10 กันยายนจบลงทันที เมื่อ “พรรคภูมิใจไทย” และ “พรรคก้าวไกล” ประกาศยอมรับมติที่เกิดขึ้น พร้อมเคารพเสียงของรัฐสภา

 

          แม้ ส.ส.พรรคเล็ก ในกลุ่มพรรคเล็กเสียงเดียว 7 พรรค นำโดย “นพ.ระวี มาศฉมาดล พรรคพลังธรรมใหม่ - พิเชษฐ สถิรชวาล พรรคประชาธรรมไทย” ยังมีความพยายามจะเคลื่อนไหวหาเสียงสนับสนุนการยื่นตีความ

รื้อระบบเลือกตั้ง วางกติกาใหม่  \"บิ๊ก ป.\"กลับสู่อำนาจไม่ง่าย

          แม้อีก 16 เสียงจากพรรคเสรีรวมไทย และพรรครวมพลังประชาชาติไทยยังไร้ท่าที แต่เมื่อดูหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ​​(9) แล้ว ยิ่งตอกย้ำแบบ “ปิดประตูตาย”

 

          เพราะมาตรา 256 (9) กำหนดเงื่อนไขยื่นศาลรัฐธรรมนูญไว้ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 

 

          1.จำนวนสมาชิกที่เข้าชื่อต้องใช้เสียง 1 ใน 10 ของสมาชิกที่มีอยู่แต่ละสภาฯ หรือ ส.ว. หรือสมาชิกสองสภารวมกัน 

          หากจะใช้เสียง ส.ส.เพียวๆ ต้องรวบรวมชื่อให้ได้ 48 เสียงจากสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ปัจจุบัน 480 หรือหากจะให้ ส.ว.ร่วมด้วย ต้องได้ 73 ชื่อจากสมาชิกของ ส.ส.และ ส.ว. รวมกันที่มี 730 คน หรืออีกเงื่อนไข หากส.ว.จะยื่น ต้องได้ 25 เสียงจากสมาชิกที่มี 250 คน

 

          แนวทาง ส.ว.เพียวๆ แม้จะมีคนค้าน 10 คน และงดออกเสียง 66 คน แต่จากการกระชับอำนาจ - ริดเสี้ยนหนามของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม 

          ถามหน่อยว่า “ส.ว.คนไหนจะกล้า” 

รื้อระบบเลือกตั้ง วางกติกาใหม่  \"บิ๊ก ป.\"กลับสู่อำนาจไม่ง่าย

          2. เงื่อนไขที่ยื่นได้ กำหนดชัดเจนว่า 1 เนื้อหาแก้ไขขัดมาตรา 255 คือเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือ 2 เข้าข่ายแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญญ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจหน้าที่ของศาล องค์กรอิสระ 

 

          กับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐสภา 472 เห็นชอบ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ แก้ไขมาตรา 83 ว่าด้วยจำนวนของ ส.ส.ที่ปรับให้มีส.ส.เขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แก้ไขมาตรา 86 เพื่อแก้ไขตัวเลข ส.ส.ให้สอดคล้องกับมาตรา 83 และแก้ไขมาตรา 91 แก้ไขการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้เป็นแบบเติมเต็ม ทั้งนี้ได้เพิ่มมาตราขึ้นใหม่เป็นบทกำหนดให้ใช้เนื้อหาที่ปรับปรุงกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก หลังจากที่รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ และกรณีที่การเลือกตั้งซ่อมให้นำเนื้อหาฉบับที่ยังไม่แก้ไขบังคับใช้ต่อไป

รื้อระบบเลือกตั้ง วางกติกาใหม่  \"บิ๊ก ป.\"กลับสู่อำนาจไม่ง่าย

          มองมุมไหน ก็ยังไม่มีข้อใดที่เข้าข่ายตั้งเรื่องยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้

 

          ดังนั้นเมื่อครบ 15 วัน ในวันที่ 25 กันยายน 2564 นายกรัฐมนตรี จึงต้องดำเนินตามกระบวนการต่อไป

 

          ทว่า การแก้ไขกติกาเลือกตั้งยังไม่จบลงเท่านี้ ยังต้องปรับแก้กฎหมายลูกกันอีกรอบ ซึ่งก็คือการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับ คือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังประชารัฐ เตรียมยกร่างเนื้อหา และคาดว่าจะเสนอต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในการประชุมสมัยหน้า เดือนพฤศจิกายน 2564

 

          ในขั้นตอนนี้ เป็นอีกช่วงหนึ่งที่อาจมีความเห็นแย้งกันได้ กลุ่มพรรคการเมืองที่ร่วมโหวตหนุน “บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” ในวันนี้ อาจไปแตกกันอีกที ที่ขั้นตอนนั้นก็เป็นไปได้ เพราะต้องการให้พรรคของตนเองได้ประโยชน์สูงสุด

 

          รายละเอียดของ พ.ร.ป.มีหลายประเด็นที่ต้องวัดพลังกัน ทั้งการกำหนดวิธีคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ การแก้ไขบทว่าด้วยการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารีโหวต) การใช้เกณฑ์สมาชิกพรรคหรือผู้แทนพรรคประจำจังหวัดเป็นฐานคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. อีกทั้งการกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมือง ทั้งการกำหนดนโยบาย กำหนดผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งเขต และบัญชีรายชื่อ กำหนดให้มีสาขาพรรคในจังหวัดหรือภูมิภาคต่างๆ และสมาชิกพรรคต้องจ่ายเงินเป็นค่าสมาชิก

 

          ที่มี “คนต้นคิด” ของ พ.ร.ป. 2 ฉบับ ซึ่งบังคับใช้นั้นทำหน้าที่เป็น ส.ว.อยู่หลายคน เช่น พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เป็นต้น

 

          แม้ว่าหนทางของการปรับระบบเลือกตั้งให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ยามนี้คงไม่มีปัญหา หรืออุปสรรคอะไรอีก แต่หากดูให้ดี ยังมีปัจจัยทางการเมือง “นอกสภาฯ” ที่คอยผสมโรง และอาจเป็นฟืนโหมไฟให้ “รัฐบาล” ต้องพ้นไปก่อนที่กฎหมายสำคัญต่อการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ

รื้อระบบเลือกตั้ง วางกติกาใหม่  \"บิ๊ก ป.\"กลับสู่อำนาจไม่ง่าย

          ทั้งขบวนการม็อบไล่ “ประยุทธ์” ผสมกับปฏิกิริยาของ “โทนี่ วู้ดซัม” และล่าสุดคืออาฟเตอร์ช็อค ปลด “ธรรมนัส พรหมเผ่า” คนที่เปรียบตัวเองว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่รัฐบาล ออกจากตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ 

 

          ที่เจ้าตัวยังประกาศสู้ต่อบนเวทีการเมืองเต็มที่ในฐานะ ส.ส.พะเยา ซึ่งทิ้งคีย์เวิร์ดสำคัญคือ “ต้องการทำงานเพื่อประเทศ ไม่ใช่รองรับหรือทำอะไรเพื่อคนบางกลุ่ม พร้อมยังรอวันที่มีอำนาจ มีวาสนาอีกครั้ง” 

รื้อระบบเลือกตั้ง วางกติกาใหม่  \"บิ๊ก ป.\"กลับสู่อำนาจไม่ง่าย

          แม้เกมเขียนกติกาเลือกตั้งครั้งใหม่ “ผู้นำทางการเมือง”ในเวลานี้ยังคุมสถานการณ์ได้เบ็ดเสร็จ แต่การกลับมายืนหนึ่งบนแท่นอำนาจอีกครั้ง ยังต้องเผชิญอุปสรรคและปัญหาอีกหลายยก.