เกมแก้“กม.ลูก”คำนวณส.ส.พึงมี ซ่อนกลเลือกตั้ง ต่อยอดอำนาจ

เกมแก้“กม.ลูก”คำนวณส.ส.พึงมี  ซ่อนกลเลือกตั้ง ต่อยอดอำนาจ

เกมแก้รัฐธรรมนูญหลังจากนี้จะเต็มไปด้วยเกมซ่อนกล ที่แต่ละพรรคการเมืองต้องคิดสูตร ต่อรองสูตรคำนวณ ส.ส.พึงมี เพื่อให้ฝั่งของตัวเองได้เปรียบมากที่สุด

จากที่คาดกันว่าพรรคการเมืองที่เสียผลประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการกลับมาใช้บัตร 2 ใบ เลือกคน-เลือกเขต จะเข้าชื่อให้ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกินมาตรา จากที่รับหลักการในวาระแรก

แต่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 61 เสียง พรรคก้าวไกล (ก.ก.) 53 เสียง (งูเห่า 5 เสียง) กลับไม่เอาด้วยกับการเข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ มีเพียงพรรคเล็กที่ออกมาแอ๊คชั่นขอรวบรวมเสียงให้ได้อย่างน้อย 73 เสียง (1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภา) เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

แต่การเดินสายขอเข้าชื่อคงทำได้ยากมาก เว้นแต่พรรคภท.-พรรคก้าวไกล ที่งดออกเสียงในวาระสามจะกลับลำเอาด้วยกับพรรคเล็ก จึงจะมีโอกาสได้ลุ้นต่อ แต่ดูแล้วริบหรี่เต็มทน

เนื่องจากเกือบทุกพรรคการเมืองมองช็อตต่อไป โดยโฟกัสไปที่กระบวนการต่อไป คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังประชารัฐ เตรียมยกร่างเนื้อหา และคาดว่าจะเสนอประธานรัฐสภาในการประชุมสมัยหน้า ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน

โดยรายละเอียดของ พ.ร.ป. นั้นมีหลายประเด็นที่ต้องวัดพลังกันอีกรอบ ทั้งแก้ไขบทว่าด้วยการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี่โหวต), การใช้เกณฑ์สมาชิกพรรคหรือผู้แทนพรรคประจำจังหวัด เป็นฐานคัดเลือก ผู้สมัคร ส.ส.

อีกทั้งการกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมือง ทั้งการกำหนดนโยบาย กำหนดผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งเขต และบัญชีรายชื่อ, กำหนดให้มีสาขาพรรคในจังหวัดหรือภูมิภาคต่างๆ และสมาชิกพรรคต้องจ่ายเงินเป็นค่าสมาชิก แต่ที่ต้องจับตามากเป็นพิเศษคือการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งแต่ละพรรคเสนอเกณฑ์คำนวณแตกต่างกันไป

“ชินวรณ์ บุญยเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ มองว่า การคำนวณส.ส.พึงมีแต่ละจังหวัดแบบเขตเลือกตั้ง ซึ่งก็ชัดเจนว่าเขตละคน เช่นจังหวัดเล็กเขตละคน จังหวัดใหญ่ขึ้นมาก็ตามอัตราส่วน แล้วก็ไปเพิ่มมาตรา 91 คือการคำนวณบัญชีรายชื่อ ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่า ต้องคำนวณบัญชีรายชื่อโดยสัมพันธ์กับจำนวน ส.ส.ที่มีก็คือ 100 หรือพูดง่ายๆ คือฐาน 100

“ไม่ใช่ไปคิดแบบสัดส่วนผสม เพราะว่าแบบเขตเมื่อชนะการเลือกตั้งไปแล้วก็ชนะไปเลย ไม่ได้ไปเอาคะแนน 500 จากเขตมารวมเป็นปาร์ตี้ลิสต์ สัดส่วนที่พึงมี แล้วมาคิดเป็นสัดส่วนผสม ซึ่งไม่ใช่อันนี้”

สิ่งที่ “ชินวรณ์” ออกมาเปิดเผยยืนยันได้ชัดเจนว่าจะมีการกำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้ พรรคเล็ก มีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยคาดว่าจะมีโมเดลคำนวณเสียงส.ส.พึงมี อย่างน้อยพรรคการเมืองต้องได้คะแนนปาตี้ลิสต์ดังนี้

โมเดลแรกได้คะแนน 1% ของผู้มาลงคะแนนทั้งประเทศ โมเดลสองได้คะแนน 3% ของผู้มาลงคะแนนทั้งประเทศ โมเดลสามได้คะแนน 5% ของผู้มาลงคะแนนทั้งประเทศ ซึ่งแต่ละโมเดลจะทำให้เกิดความเสียเปรียบ-ได้เปรียบแตกต่างกัน หากยึดเกณฑ์ได้คะแนน 1% โมเดลแรกได้คะแนน 1% ของผู้มาลงคะแนนทั้งประเทศ บรรดาพรรคเล็กยังพอมีโอกาสที่จะได้เก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อยู่บ้าง

หากยึดโมเดลได้คะแนน 3% ของผู้มาลงคะแนนทั้งประเทศ โอกาสที่พรรคเล็กจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีน้อยลงมา และหากใช้โมเดลสามได้คะแนน 5% ของผู้มาลงคะแนนทั้งประเทศ พรรคเล็ก แทบจะไม่มีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว

นอกจากนี้ จะต้องติดตามอีกว่า การใช้บัตรสองใบเลือกคน-เลือกพรรค จะใช้เกณฑ์ใดคำนวณ ส.ส.พึงมี เพราะแน่นอนว่า “พรรคร่วมรัฐบาล” รู้ดีว่าหากคำนวณแบบเดินรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 พรรคเพื่อไทย ได้เปรียบเต็มประตู

ดังนั้น จึงต้องจับตาสูตรการคำนวณ ส.ส.พึงมี ดีไม่ดี “พรรคร่วมรัฐบาล” อาจจะมีสูตรคำนวณที่ทำให้ตัวเองได้เปรียบอยู่แล้วก็ได้ ยิ่ง          ท่าทีของพรรคภูมิใจไทย ที่ทำทีไม่เอาบัตรเลือกตั้งสองใบ แต่ทีเด็ดทีขาดกลับนิ่งเฉย ไม่แอ๊คชั่นยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

เกมแก้รัฐธรรมนูญหลังจากนี้จะเต็มไปด้วยเกมซ่อนกล ที่แต่ละพรรคการเมืองต้องคิดสูตร ต่อรองสูตรคำนวณ ส.ส.พึงมี เพื่อให้ฝั่งของตัวเองได้เปรียบมากที่สุด