พลังประชา"เละ" ซ้ำรอย"ถนอม-พรรคผี"
ในวันที่สัมพันธภาพ “2 ป.” ร้าวลึก ส.ส.พลังประชารัฐ รู้สึกเคว้งคว้าง หากยุบสภา พรรคเฉพาะกิจของ คสช. คงมีสภาพไม่ต่างจากผึ้งแตกรัง
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มักจะเปรียบเทียบ “พรรคพลังประชารัฐ” กับพรรคสามัคคีธรรม ในความเป็นพรรคเฉพาะกิจ
จริงๆ แล้ว สถานการณ์วันนี้ พรรคพลังประชารัฐ ไม่ต่างจากพรรคสหประชาไทย ของจอมพลถนอม กิตติขจร กำลังเผชิญกับการเล่นเกมสภา ของ ส.ส.บางกลุ่มของพรรคสหประชาไทย และ ส.ส.กลุ่มอิสระ หรือที่รู้จักกันในนาม “พรรคผี”
เดิมที “พรรคผี” อยู่ในการดูแลของประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา สมัยโน้น และ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา แต่ตอนหลัง ส.ส.พรรคผี ป่วนสภาบ่อย สุดท้าย จอมพลถนอมเลือกปฏิวัติตัวเอง ในวันที่ 17 พ.ย.2514 ยุบเลิกรัฐธรรมนูญ
ชั่วโมงนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติ เกิดมีรอยปริร้าว เพราะปมปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ ปลด “ธรรมนัส-นฤมล” ออกจากตำแหน่ง รมช.
ปรากฏการณ์ “สภาล่ม” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็บ่งบอกถึงความไม่มั่นใจของฝ่ายบริหาร หวั่นว่าร่างกฎหมายจะคว่ำกลางสภาฯ จึงให้ ส.ว.ที่นั่งอยู่ในห้องประชุม ไม่แสดงตัว จนสภาล่ม ต้องเลื่อนไปโหวตในการประชุมสมัยหน้า เดือน พ.ย.2564
อ่านข่าว : "บิ๊กน้อย" วิชญ์ เทพหัสดิน ไม่ธรรมดา! พลังประชารัฐ ศึกใหญ่ใต้เงาบูรพาพยัคฆ์
กรณีดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2564 ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีข่าวว่า ขาใหญ่พรรคพลังประชารัฐบางคน เตรียมเล่นเกมเขย่า พล.อ.ประยุทธ์
นี่คือปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ คุม ส.ส.ไม่ได้ คาดการณ์ไม่ได้ และไว้ใจไม่ได้ ทำให้การผ่านร่างกฎหมายสำคัญ จะมีปัญหาในอนาคต
พลังประชารัฐ ก่อเกิดจากแม่น้ำร้อยสาย มาจากอดีต ส.ส. หรือนักการเมืองร้อยพ่อพันแม่ ย่อมมีปัญหากลุ่มก๊วน เป็นเรื่องปกติ ยามสู้ศึกเลือกตั้ง ก็สามัคคีกันดี ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันเอง ยามที่เป็นรัฐบาล เริ่มขัดแข้งขัดขากันเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี
ปรากฏการณ์ร้อยซุ้มพันก๊ก จึงเกิดขึ้นในเวลานี้ บรรยากาศ “สามัคคีสู้รบ” ก็เปลี่ยนเป็นสามัคคี “ตีกันเอง”
ซุ้มอีสานล้านนา ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากที่เคยคุยว่า มี ส.ส. อยู่ในมือกว่า 40 คน พอหัวโขนหลุด ก็เหลือ ส.ส.ที่ยังเดินตาม 11 คน แยกเป็น ส.ส.เหนือ 7 คน และ ส.ส.อีสาน 4 คน
ซุ้มโคราช ของ วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล มี ส.ส.เขตในครอบครัว 4 คน รวมวิรัชเป็น 5 คน
สองซุ้มข้างต้นนี้ มีความใกล้ชิดกัน และพยายามแสวงความร่วมมือกับ ส.ส.บางคน ในซุ้ม กทม. และภาคใต้
ซุ้มสามมิตร นำโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ อนุชา นาคาศัย มีกำลังอยู่ในมือประมาณ 14-15 คน นับรวมกับซุ้มบ้านใหญ่คลองขลุง ของ วราเทพ รัตนากร
ซุ้มมังกรน้ำเค็ม ของ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น มี ส.ส.ไม่มาก แค่ 4 คน แต่อาศัยแตะมือกับซุ้มสามมิตร และซุ้ม เสธ.อ้น ที่ดูแล ส.ส.ภาคกลาง บางส่วน รวมแล้วได้ 10 กว่าคน
ซุ้มมะขามหวาน ของ สันติ พร้อมพัฒน์ ที่มี ส.ส.เพชรบูรณ์ 5 คน เป็นฐานกำลัง จึงหันไปหาซุ้มสามมิตร ในช่วงที่แตกหักกับธรรมนัส
ซุ้มเมืองสิงห์ นำโดย ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็รวบรวม ส.ส.ภาคกลาง และ ส.ส.กทม. ไว้ในมือ 7-8 คน
ซุ้มสมุทรปราการก้าวหน้า ของชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม มี ส.ส.ในมือ 6 คน แต่ไม่เคยเรียกร้องเก้าอี้รัฐมนตรี ซุ้มนี้ขึ้นตรงต่อลุงป้อม
ซุ้ม กทม. มี ส.ส. 12 คน แต่ก็ถูกดึงไปอยู่ซุ้มต่างๆ เหมือน ส.ส.ภาคกลาง บางจังหวัด
นอกจากนั้น ยังมีซุ้มบ้านใหญ่อีกหลายจังหวัด อาทิชลบุรี, สระแก้ว ,กาญจนบุรี รวมถึงซุ้มหิมาลัย ผิวพรรณ ที่มี ส.ส.ภาคเหนือ ตอนล่าง 3 คน
ส่วน ส.ส.ภาคใต้ 14 คน เป็น “ส.ส.นกแล” ไม่มีเอกภาพ ไม่มีผู้ดูแลเป็นเรื่องเป็นราว มักถูกดึงไปซุ้มโน้นซุ้มนี้
หากเปรียบเทียบพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคสหประชาไทย พล.อ.ประยุทธ์ คือจอมพลถนอม และพล.อ.ประวิตร ก็คือ พล.อ.กฤษณ์ ผู้ดูแล ส.ส.พรรคสหประชาไทย และ ส.ส.พรรคผี
ในวันที่สัมพันธภาพ “2 ป.” ร้าวลึก ส.ส.พลังประชารัฐ รู้สึกเคว้งคว้าง หากยุบสภา พรรคเฉพาะกิจของ คสช. คงมีสภาพไม่ต่างจากผึ้งแตกรัง