"ปชป."ไม่กังวลโดนยื่นผู้ตรวจฯส่งศาล รธน.ตีความร่าง รธน.

"ปชป."ไม่กังวลโดนยื่นผู้ตรวจฯส่งศาล รธน.ตีความร่าง รธน.

"โฆษก ปชป." ไม่กังวล กรณีถูก "หมอวรงค์" ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินส่ง ร่าง รธน. ให้ "ศาล รธน." ตีความ ยันผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีที่มีการยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การใช้สิทธิตามกฏหมาย ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เพราะความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยมากน้อยแค่ไหนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถือว่าได้ผ่านการพิจารณาในส่วนของรัฐสภาแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะมีการดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดต่อไป ทุกอย่างเดินตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ส่วนกรณีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่แก้ไขในส่วนของจำนวน ส.ส.เขต จาก 350 คน แก้เป็น 400 คน และระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน แก้เป็น 100 คน และให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือเลือกคนที่รักและเลือกพรรคที่ชอบได้ หลักการนี้จะเป็นหลักสำคัญที่จะมาตอบสนองเจตนารมณ์และความต้องการของพี่น้องประชาชน ไม่มีระบบไหนดีที่สุด แต่เราจะทำอย่างไรให้ระบบการเลือกตั้งที่ดีกว่าไม่เป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ที่ใช้ระบบการจัดสรรปันส่วน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าได้มีปัญหาในทางปฏิบัติหลายเรื่อง โดยเฉพาะวิธีการคำนวณคะแนนที่ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน มีประเทศไหนบ้างที่เลือกตั้งเสร็จประชาชนยังไม่รู้เลยว่าจะคำนวณเพื่อจัดสรรจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมีอย่างไร สุดท้ายก็มีการคำนวณให้พรรคที่ไม่มีสิทธิได้ ส.ส.ก็ได้รับการจัดสรรให้พรรคละหนึ่งคน ทั้ง ๆ ที่คะแนนหลายพรรคมี 30,000 -40,000 กว่าคะแนนก็ได้รับจัดสรรจำนวน ส.ส.  หากคำนวณโดยยึดหลักถูกต้องแล้วพรรคจะได้ ส.ส. 1 คน ต้องมีคะแนนถึง 70,000 กว่าคะแนน เกือบทุกพรรคเคยต่อสู้กับเรื่องนี้ว่าไม่เป็นธรรม

นายราเมศ กล่าวว่า ที่อ้างว่าระบบนี้ไม่มีคะแนนตกน้ำแม้แต่คะแนนเดียวซึ่งก็ไม่เป็นความจริงอีกเพราะจากการคำนวณจำนวน ระบบจัดสรรปันส่วน ให้กับพรรคที่ได้คะแนนไม่ถึง 70,000 กว่าคะแนน แต่มีคะแนนของแต่ละพรรคตกน้ำหายไปพรรคละเป็นหลักแสนคะแนน เช่น พรรคพลังประชารัฐ คะแนนที่ตกน้ำไปไม่นำมาคำนวณ จำนวน229,034 คะแนน พรรคอนาคตใหม่ 561,245 คะแนน พรรคประชาธิปัตย์ 256,857 คะแนน พรรคภูมิใจไทย104,461 คะแนน พรรคเสรีรวมไทย 110,555 คะแนน พรรคชาติไทยพัฒนา 71,922 คะแนน ตัวเลขดังกล่าวโดยประมาณ ตัวอย่างนี้จะเห็นว่ามีคะแนนตกน้ำไปเป็นจำนวนมาก

 

และข้อเท็จจริงก็ต้องยอมรับว่า ระบบจัดสรรปันส่วนเป็นระบบผสมที่ไม่เป็นที่นิยมแล้วในปัจจุบันเพราะเกิดปัญหาเยอะมาก มีแค่ 4-5 ประเทศในโลกที่เคยทดลองใช้ระบบนี้และส่วนใหญ่ก็เลิกไปหมดแล้ว มีตัวอย่างในบางประเทศศาลรัฐธรรมนูญของประเทศนั้นเคยมีคำวินิจฉั ว่า ระบบเลือกตั้งที่ให้ประชาชนกากบาทบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใบเดียว แต่ให้นับคะแนนทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผิดหลักความเป็นจริง เพราะไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนและสร้างระบบบิดเบือน เป็นระบบที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ที่ไม่ให้ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ" มีการซื้อสิทธิขายเสียงกันหนักกว่าเดิมมาก ผู้สมัคร ส.ส.เขต ที่ไม่มีคุณภาพจะได้เข้าสู่สภา เหตุเนื่องจากประชาชนเลือกไม่ได้ แต่บังคับให้ต้องเลือก เพราะไม่มีอีกใบให้เลือกพรรค เมื่อต้องการเลือกพรรค ก็ต้องเลือกผู้สมัคร ส.ส. ถึงแม้จะไม่มีคุณภาพ ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เหล่านี้ชี้ชัดให้เห็นว่า ควรแล้วที่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้ตรงตามความเป็นจริงสะท้อนเจตนารมณ์ ปชช มากขึ้น

 

ส่วนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อว่า กมธ. ยกร่างได้ดูรายละเอียดทั้งรัฐธรรมนูญและข้อบังคับแล้ว มีทั้งสมาชิกรัฐสภา กฤษฎีกา กกต. ร่วมพิจารณาด้วย การปรับข้อความมาตราอื่น ๆ เพื่อให้ข้อความ สอดคล้องกับหลักการและเหตุผล สมาชิกรัฐสภาทราบหลักการนี้ดีและใช้ในการดำเนินการร่างกฎหมายมาโดยตลอด 

 

ส่วนเรื่องจะมีความกังวลหรือไม่ในเรื่องการทำประชามติหรือไม่นั้นก็ต้องตอบโดยหลักการว่า ไม่ต้องทำประชามติกระบวนการทั้งหมดไม่น่ากังวลใจ  ส่วนประเด็นว่าจะร่างแล้วพรรคใดจะได้ประโยชน์มากกว่ากันตนตอบไม่ได้เพราะต้องถามประชาชนทั้งประเทศว่าจะมอบอำนาจให้พรรคการเมืองใดมากที่สุด พรรคไม่รับรัฐธรรมนูญนี้มาตั้งแต่ต้น ไม่เห็นด้วยในหลายส่วน แต่วันนึงเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ก็เคารพกฎหมายก็ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง แพ้ชนะ ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ แต่ ถ้าเราเห็นว่าหลักการที่แก้ไขดีแล้ว ก็อย่าได้กังวล เพราะวันนี้พรรคนี้อาจจะบอกว่าได้ประโยชน์ วันนึงพออีกพรรคกลับกลายได้ประโยชน์ หากฝ่ายที่คิดว่าตนเสียประโยชน์เพราะรัฐธรรมนูญที่ไม่เอื้อให้กับตน อย่างนี้ก็ลำบากในวันข้างหน้า และไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งหากจะมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อเอื้อกับพรรคการเมืองใด

 

การตรวจสอบเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ท้ายที่สุดจะออกมาทิศทางใดเชื่อว่าทุกคนพร้อมน้อมรับผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการตรวจสอบตามครรลอง ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับไว้และส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็เป็นดุลพินิจของแต่ละองค์กรคงไปก้าวล่วงไม่ได้