“นายกฯ” เกินเทอม จุดเสี่ยง วิกฤติการเมือง
วาระ8ปี ของการดำรงตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ฝ่ายค้าน ใช้เป็นประเด็นทวงถาม "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ว่า จะมีสำนึกรับผิดชอบต่อการปฏิบัติให้อยู่ภายใต้ "รัฐธรรมนูญ" หรือไม่ หากอยู่เกินตัวบท วิกฤติการเมือง ที่ถูกคาดการณ์ และเปิดปมจาก "ฝ่ายค้าน" อาจเกิดขึ้นได้
ประเด็น “วาระ 8 ปี” ของ นายกรัฐมนตรี ดูท่าว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” จะไม่ยี่หระเท่าไร
หลังให้ “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกรัฐบาล ออกมาตอบคำถามแทนในประเด็นนี้ ว่า “ให้ไปดูการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใด”
ถอดรหัสนี้ จะพบว่า กติกาที่ให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ในคราบนักการเมือง อยู่เป็นนายกฯ ปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
แต่สิ่งที่ต้องตีความ คือ มาตรา 158 ที่กำหนด วาระดำรงตำแหน่ง "รวมกันเกิน 8 ปีไม่ได้” ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ และไม่นำระยะรักษาการตามตำแหน่ง มานับรวม
ความตามนี้ มีคนมองวาระดำรงตำแหน่งของมุมกฎหมาย ใน 3 ทาง คือ 1.นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 หลังการเลือกตั้งทั่วไป, 2. นับตั้งแต่เมษายน 2560 คือ วันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บังคับใช้ และ 3. นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 วันที่ดำรงตำแหน่งจากการยึดอำนาจ
ถือเป็นประเด็น "ข้อขัดแย้งทางกฎหมาย” ที่เข้าข่ายอำนาจของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ต้องตีความ และช่องทางที่เกิดขึ้นได้ คือ ครม. , กรรมการการเลือก (กกต.) หรือ สมาชิกแห่งสภาเข้าชื่อ 1 ใน 10 เพื่อยื่นเรื่องได้
ท่าทีของฝ่ายสภาฯ ล่าสุด “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ประกาศจะไม่ขอใช้สิทธิตอนนี้
เพราะหวั่นว่าจะเข้าทางใช้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ประทับรับรอง-ขยายอำนาจของ “พล.อ.ประยุทธ์” โดยใช่เหตุ
แต่จังหวะที่จะยื่นนั้น ถูกกำหนดไว้โดยแน่ชัดคือ หลัง 24 สิงหาคม2565 เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี นับจากสิงหาคม 2557 ที่ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการยึดอำนาจ
สำหรับกติกาที่ล็อกวาระของ “นายกรัฐมนตรี” มี มุมมองจาก "นักกฎหมายของรัฐสภา" ว่า หากจะถกเรื่องนี้ อย่ามองแค่ มาตรา 158 เท่านั้น เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องหลายมาตรา
ได้แก่ มาตรา 170 ว่าด้วยการสิ้นสุดของ นายกฯ, มาตรา 264 กำหนดความให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คือ 6 เมษายน 2560 เป็น ครม.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จนกว่ามีครม. ที่ตั้งใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไป และกำหนดให้การทำหน้าที่เป็นวาระต่อเนื่อง “ไร้การรักษาการ- ไร้รอยต่อ”
มาตรา 279 วรรคสอง ที่รับรองบรรดาการใดๆ ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 รวมถึงฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้ง 2 ฉบับ ในปี 2558 และ ปี 2559 นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของบรรดาการใดๆ ที่รวมถึง การทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายบริหาร และ นายกฯ
และ ที่สำคัญคือ "กลุ่มมาตราว่าด้วย วาระดำรงตำแหน่งขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ" เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กำหนด "วาระดำรงตำแหน่งแบบจำกัด” คือ 7 ปี และเป็นได้วาระเดียวชั่วชีวิต
เช่นเดียวกับการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของ ผู้นำฝ่ายบริหาร
ที่ผ่านมาการดำรงตำแหน่งของ องค์กรอิสระ ที่คาบเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ “คสช.” ประกาศให้มีผลใช้บังคับ และ ฉบับปี 2560 แต่การดำรงตำแหน่ง ไม่พบว่า “องค์กรอิสระใด” ถูกนับวาระดำรงตำแหน่งแบบ “เริ่มใหม่” เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับ แต่จะให้นับวาระต่อเนื่อง ตั้งแต่วันแรกที่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ไปจนครบตามกติกา
ประเด็นนี้ “ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา” ยกตัวอย่างด้วยว่า เช่น การสรรหาและแต่งตั้ง กสม. ชุดที่ 4 ซึ่งเข้าปฏิบัติหน้าที่ เมื่อ 25 พฤษภาคม 2564 หลังจากที่ กสม. ชุดที่3 ดำรงตำแหน่งครบวาระ เมื่อ 24 พฤษภาคม 2564 โดยประเด็นนี้ หากให้ “กสม.” ชุดที่3 เริ่มนับวาระใหม่ จะต้องไม่มีการสรรหาใหม่ เพราะสามารถอยู่ทำหน้าที่ได้อีก 7 ปีตามรัฐธรรมนูญใหม่
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ กสม. ชุดที่สาม ซึ่งมาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ “คสช.”ออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ ต้องพ้นไปเมื่อครบวาระตามที่รัฐธรรมนูญ 2550กำหนด คือ6 ปี ไม่มีการนับใหม่เมื่อมีกฎหมายใหม่ใช้บังคับ
หรือ กรณีการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อปี 2563 ที่ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ครบวาระ 6 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 และวุฒิสภา เลือก “อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์” ดำรงตำแหน่งแทน เมื่อ พฤษภาคม 2564 จะเห็นว่าไม่ได้นับวาระใหม่ เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับ เช่นกัน
หากนำมาเปรียบกับข้อถกเถียงถึงวาระดำรงตำแหน่ง “นายกฯ” ในปัจจุบัน แทบไม่แตกต่าง
เพราะนายกฯ ถูกจำกัดวาระดำรงตำแหน่ง เฉกเช่นเดียวกับ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนบทบัญญัติต่างกันในบริบท แต่บรรทัดฐานการใช้หรือตีความกฎหมาย ย่อมไม่ต่างกัน หรือ ให้สิทธิองค์กรใด ได้รับสิทธิพิเศษ เหนือกว่า
ฝ่ายบริหาร ถือเป็น 1 ใน 3เสาหลักของอำนาจอธิปไตย หาก “ผู้นำ” ไม่ยึดกติกาสูงสุดของประเทศ และคิดจะครองอำนาจทางการเมือง “อยู่เกินรัฐธรรมนูญ” ความขัดแย้งและวุ่นวายทางการเมืองอาจเกิดขึ้น
เหมือนคำทำนาย ที่ “กรธ.” เขียนความมุ่งหมายของมาตรา 158 ไว้ในบรรทัดท้าย ที่ว่า “การกำหนดระยะเวลา 8 ปีเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติการเมืองได้".