"วราวุธ" ถอดบทเรียนน้ำท่วม 54 เตือนอย่าผันน้ำเกินขีด เข้าแม่น้ำท่าจีน
แกนนำชาติไทยพัฒนา โพสต์เตือนบทเรียนปี54 ผันน้ำเข้าแม่น้ำท่าจีน เกินปริมาณรับได้ ชี้มีบทเรียนคนบางบัวทอง กทม. ฝั่งธนบุรี ได้รับผลกระทบร่วมด้วย
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ เพื่อเรียกร้องไม่ให้ผันน้ำเจ้าพระยาเข้าสู่แม่น้ำท่าจีน จนเกินขีดความสามารถรับน้ำเพราะจะเกิดผลกระทบต่อเนื่องมาถึง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี จนถึง กทม. และพื้นที่ฝั่งธนบุรี ทั้งนี้ทุกครั้งที่น้ำท่วม จ.สุพรรณบุรี และกลุ่มจังหวัดฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลท่วมจังหวัดตอนล่าง แต่ความเสียสละของพี่น้องประชาชนฝั่งตะวันตก ตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็เหมือนจะยังไม่เพียงพอ ยังคงมีข้อครหา จากบางคน บางกลุ่ม ในทุกครั้งที่เกิดอุทกภัยว่านักการเมืองบางกลุ่ม กีดกันการบริหารน้ำ เพราะกลัวน้ำจะท่วมสุพรรณ
นายวราวุธ ระบุด้วยว่าในข้อเท็จจริงคือ แม่น้ำท่าจีน เป็นแม่น้ำสายเล็ก คดเคี้ยว น้ำไหลไม่สะดวก และระบายน้ำได้ช้า และมีศักยภาพการระบายน้ำได้น้อยกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาาถึง 1 ใน 10 อีกทั้ง กลุ่มจังหวัดฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องรองรับน้ำทั้ง แม่น้ำเจ้าพระยา และ น้ำท่วมทุ่งที่ไหลท่วมมาจาก จ.กาญจนบุรี ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณไหลมหาศาลไหลเข้าหลายพื้นที่ อาทิ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี, อ.สามโก้ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง, อ.ผักไห่ จ.อยุธยา หากผันน้ำเข้าแม่น้ำท่าจีน จะทำให้พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเพิ่มความหนักมากยิ่งขึ้น และหากใครที่เชื่อว่า เรายังสามารถผันน้ำ จากเจ้าพระยา เข้าแม่น้ำท่าจีนได้อีกมาก ก็ต้องขอให้ทบทวนถึงเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพเมื่อปี 2554
"แต่ถ้าหากจำเป็นจะต้องผันน้ำมาเพิ่มอีก ในพี้นที่จ.สุพรรณท่วมทุกปีอยู่แล้ว ในตอนนี้ก็ยังท่วมอยู่ และคงจะต้องท่วมต่อไปอีก เพราะเราเป็นที่ลุ่มต่ำ อยู่ในจุดที่ต้องรับมวลน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้พี่น้องที่อยู่ถัดลงไปต้องเดือดร้อนเหมือนพวกเรา” นายวราวุธ ระบุ
นายวราวุธ ระบุด้วยว่า ในปี 2554 มีน้ำผันมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา มาทางประตูน้ำพลเทพเป็นจำนวนมาก จนน้ำที่ปกติจะท่วมแค่เฉพาะในพื้นที่ จ.สุพรรณ กลับไหลบ่าท่วมมาถึงทุ่งพระยาบรรลือ และทุ่งพระพิมล จนไหลมาท่วมถึงบางบัวทอง ไหลเข้าฝั่งธนบุรี เลยไปถึงศาลายา และนครชัยศรี และท้ายที่สุดก็ใช้เวลานานมากกว่าน้ำจะระบายลงทะเลหมด ซึ่งในขณะเดียวกัน มวลน้ำทางซีกตะวันออกของเจ้าพระยา ได้ระบายหมดก่อนไปนานแล้ว.