“กรณ์”ชี้เคส“Evergrande”ส่อวิกฤติการเงินโลกใหม่ จี้ทีม ศก.ไทยรับมือด่วน
"กรณ์" ชี้กรณี Evergrande ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ สัญญาณวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ จี้ทีมเศรษฐกิจไทยจัดทัพรับมือด่วน
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแสดงความเป็นห่วง ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ "Evergrande" ว่า กำลังจะส่งผลกระทบไม่ใช่แค่กับเศรษฐกิจจีน แต่สะเก็ดระเบิดนี้จะกระจายมาโดนเมืองไทยด้วยเหมือนสมัยวิกฤตแฮมเบอเกอร์ เมื่อสมัยที่ตนเป็นรมว.คลัง โดยในช่วงนั้นเราทำงานจับตาเรื่องซับไพรม์ใกล้ชิดตั้งแต่ต้น ทำงานเชิงลึกและทำความเข้าใจตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตจนจัดการได้อยู่ และแก้ไขจนไทยฟื้นตัวไวเป็นอันดับ 2 โลก แต่ครั้งนี้หนักกว่า เพราะความพึ่งพาที่ใกล้ชิดในหลายมิติระหว่างไทย-จีน มากกว่า ไทย-อเมริกา คำถามคือ วันนี้ไทยเตรียมรับมือกับประเด็น Evergrande หรือยัง
อ่านข่าว : วิกฤตหนี้ “เอเวอร์แกรนด์” บทพิสูจน์ความน่าเชื่อถือจีน
นายกรณ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยเรารับมือกับเรื่องน้ำท่วมเป็นหลัก แต่ประเด็นนี้ต้องคอยจับตาให้ดี สื่อและนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจต่างชาติยังคงเกาะติดไม่หยุดกับประเด็นดังกล่าว
“Evergrande ใช้ยุทธศาสตร์ 3 สูง 1 ต่ำ คือหนี้สูง หนี้ต่อทุนสูง และยอดขายสูง ส่วน 1 ตํ่าคือ ต้นทุนต่ำ ยุทธศาสตร์นี้ทำให้ Evergrande เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี แต่แล้วสุดท้ายการเสพติดหนี้ทำให้บริษัทล่มและสะเทือนไปถึงระบบธนาคารและแม้แต่การเมืองจีน ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้พยายามลดความเสี่ยงในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยการประกาศมาตรการ ‘3 เส้นแดง’ ที่ทุกบริษัทต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นการกำหนด 1. สัดส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สิน 2. สัดส่วนหนี้ต่อทุน 3. สัดส่วนเงินสดต่อหนี้ระยะสั้น” อดีต รมว.คลัง กล่าว
นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่วันประกาศ Evergrande ไม่เคยผ่านทุกเงื่อนไข โดยส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลจีนจะหาวิธีดูแลลูกค้าของ Evergrande ให้ได้รับการเยียวยา (เพื่อไม่ให้มีผลกระทบทางการเมือง) แต่จะไม่อุ้มผู้ถือหุ้นบริษัทแน่นอน รัฐบาลของ สี จิ้นผิง ได้ออกมาตรการเด็ดปีกทุนใหญ่ต่อเนื่องมาตลอดปี ดังนั้นบทบาทการเมืองจีนต่อภาคธุรกิจจึงเป็นประเด็นเสี่ยงที่สุดของทุกคนที่ลงทุนในตลาดหุ้นจีน และเมื่อรวมกับความอึมครึมในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จีนแล้ว เราจึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามแม้วันนี้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะยังไม่มาก แต่ความพึ่งพาใกล้ชิดระหว่างเศรษฐกิจไทย-จีนในปัจจุบันนี้ มีมากกว่า ไทย-อเมริกา ตอนเราโดนลูกหลงจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ดังนั้นเราต้องวางแผนรับแรงกระแทกให้ดี อย่าตายใจว่าไกลตัวเรา