"รัฐบาล"จ่อทูลเกล้าฯ"ร่างรธน." นายกฯยื่นตีความไม่ได้ "ในหลวง"ทรงวีโต้ได้

"รัฐบาล"จ่อทูลเกล้าฯ"ร่างรธน." นายกฯยื่นตีความไม่ได้ "ในหลวง"ทรงวีโต้ได้

"วิษณุ" เผย "รัฐบาล" เตรียมทูลเกล้าฯ "ร่างรธน." แจง "นายกฯ" ไร้อำนาจยื่นตีความ ระบุ "ในหลวง" มีพระราชอำนาจวินิจฉัย 90 วัน ทรงวีโต้ ได้ หวั่น การเมืองยุ่งถ้ายุบสภาฯก่อนได้รธน.ใหม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการยื่นทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากสภาส่งถึงมือนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 27ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า กรอบเวลาการยื่นทูลเกล้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 เมื่อรัฐสภาส่งมาถึงมือนายกฯ ต้องเก็บไว้ 5 วันเป็นภาคบังคับ เมื่อครบแล้วให้บวกไปอีก 20 วัน จะทูลเกล้าฯเมื่อใดก็ได้ภายใน 20 วันนี้ 

เมื่อถามว่า ระยะเวลา 20 วันนี้ นายกฯสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้านายกฯจะยื่นต้องยื่นตามมาตรา 148 ถ้าอ่านดูจะเห็นว่าผู้ที่จะยื่นได้คือ ส.ส. กับนายกฯ แต่เป็นการใช้กับ พ.ร.บ. ไม่ได้ใช้กับรัฐธรรมนูญ 

เมื่อถามย้ำว่า ตอนนี้นายกฯ ไม่มีอำนาจยื่นตีความได้แล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนตอบแค่นี้ เพราะมาตรา 148 ใช้กับพ.ร.บ. 

เมื่อถามว่ากรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ยื่นตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน จะกระทบกับการยื่นทูลเกล้าของนายกฯหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่กระทบ การยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินไม่เกี่ยวกับกำหนดเวลาเป็นกฎหมายแล้วก็ยังยื่นได้เป็นเรื่องของเขาอยู่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับหรือไม่ถือเป็นคนละส่วนกัน 

“ผมเข้าใจว่ารัฐบาลเตรียมการนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ตอบไม่ถูกว่าจะนำขึ้นช่วงไหนเพราะมันต้องอยู่ในช่วง 20 วันเวลานี้เลย 5 วันแรกมาแล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วง 20 วัน ก็อยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะพิมพ์เสร็จเมื่อไหร่ และเมื่อทูลเกล้าฯ ไปแล้วจะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยได้ 90 วัน เมื่อครบ 5 วัน บวก 20 พอขึ้นไปปั๊บให้นับหนึ่งตรงนั้นไปอีก 90 วัน” นายวิษณุ กล่าว 

เมื่อถามว่า หากมีการทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว หากเกิน 90 วันยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ร่างดังกล่าวจะตกไปเลยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 147 แต่ก็ไม่เชิงตกเพราะมีช่องให้สภายืนยันอีกครั้งภายใน 30 วัน 

 

เมื่อถามว่า ในหลวงสามารถคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าทรงมีพระราชอำนาจในการวีโต้พ.ร.บ.ใน 90 วัน ถามว่าเคยเกิดขึ้นหรือไม่ ก็เคยสมัยรัชกาลที่ 7 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เคยวีโต้ พ.ร.บ. 3 ฉบับ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ทำบ่อย 

เมื่อถามว่า ดูจากไทน์ไลน์ต่อจากนี้ไม่น่าจะมีอะไรสะดุดใช่หรือไม่ ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญและกติกาเลือกตั้ง นายวิษณุ กล่าวว่า มันจะสะดุดก็เรื่องเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ แต่เวลานี้ยังไม่มีการยื่น

เมื่อถามว่า ระหว่างนี้หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งจะต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตามรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้แล้วในมาตรา 147 หากร่างพ.ร.บ. หรือร่างรัฐธรรมนูญใดที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องตกไป แต่ถ้าได้รับความเห็นชอบแล้วมันไม่ตก เว้นแต่จะไม่โปรดเกล้า ลงมาภายใน 90 วันเพราะฉะนั้น ไม่ว่ารัฐบาลออกหรือยุบสภาหรือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้ารัฐธรรมนูญนั้นประกาศใช้ต้องเดินต่อไป แต่ตนไม่กล้าบอกว่าถ้ายุบสภาตอนนี้แล้วใช้รัฐธรรมนูญใหม่ เพราะว่ายังไม่ได้โปรดเกล้าฯ ลงมา ถามว่ายังต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯหรือไม่ ก็ยังต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ และยังทรงมีเวลา 90 วัน ถ้าโปรดเกล้าฯ ลงมาตรงนี้ ตนถึงเคยบอกไว้แล้วว่ามันจะยุ่งหากเกิดเหตุการยุบสภาในตอนนี้ เนื่องจากขณะที่ยุบสภาเรายังนึกว่ามี ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คนกกต.ก็ต้องเตรียมการอย่างนี้ เพราะยังไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้วพรรคการเมืองก็เตรียมการแบบนี้แล้วอยู่ๆ เกิดมีการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลงมาทุกอย่างต้องเปลี่ยนหมดจะไม่เปลี่ยนก็ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญใหม่มีผลแล้วมันถึงจะยุ่ง 

เมื่อถามว่า หากมีการยุบสภาก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีปัญหาก็จบเรื่องใช้กติกาเดิม บัตร 1 ใบ ส.ส. 350 กับ 150 ถ้าเลือกตั้งเสร็จวันนี้ พรุ่งนี้โปรดเกล้าฯ ส.ส.ก็เป็นแบบเดิม จนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ถึงใช้กติกาใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญจะมีผลกับการเลือกตั้งครั้งใหม่เท่านั้น