เปิดปูม “พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปเตมีย์”  ผบ.ทอ.ส้มหล่น ไอดอล “พ่อทัพฟ้า”

เปิดปูม “พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปเตมีย์”   ผบ.ทอ.ส้มหล่น ไอดอล “พ่อทัพฟ้า”

เส้นทาง 4 ปี ของ "พล.อ.อ.ประพันธ์" ที่หลายคนมองว่าเป็น ผบ.ทอ.ส้มหล่น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะในยุคนั้น ไทยประสบปัญหาภัยคุกคามน่านฟ้า และ กบฏ 19 กันยา จนตกเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกจับกุมตัว

จากถ้อยแถลงนโยบายที่ได้ให้ไว้กับ “ลูกทัพฟ้า” พอจะทำนายได้ว่า นับจากนี้ 1 ปี การทำหน้าที่ของ “บิ๊กป้อง” พล.อ.อ.นภาเดช ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) คนที่ 28 จะยึดแนวทางเดียวกับบิดา พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปเตมีย์ อดีต ผบ.ทอ. คนที่ 10 ผู้ที่ทำให้ “กองทัพอากาศ” เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และมีความทันสมัยในทุกๆ ด้าน

ย้อนไปเมื่อ 39 ปีที่แล้ว หาก พล.อ.อ.ทะแกล้ว ศุษิลวรณ์ ผบ.ทอ. ไม่ถึงแก่อสัญกรรมแบบกระทันหัน ก็ไม่แน่ว่า “พล.อ.อ.ประพันธ์” จะได้เป็น “ผบ.ทอ.”หรือไม่ เพราะในขณะนั้นยังมี พล.อ.อ.อรุณ พร้อมเทพ เสธ.ทอ. จ่อคิวเป็น ผบ.ทอ. 

ทันทีที่ พล.อ.อ.ทะแกล้ว เกษียณอายุราชการ แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นหลัง พล.อ.อ.ทะแกล้ว ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ทอ.ได้เพียง 2 ปี ถึงแก่อสัญกรรมด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ในระหว่างไปร่วมพิธีฝึกผสม Air Thamal ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี 2525 ทำให้ พล.อ.ประพันธ์ ซึ่งนั่งเป็นรอง ผบ.ทอ. ขยับเข้ามาทำหน้าที่รักษาการ ก่อนจะมีคำสั่งแต่งตั้งเป็น ผบ.ทอ. ในเวลาต่อมา

เส้นทาง 4 ปี ของ พล.อ.อ.ประพันธ์ ที่หลายคนมองว่าเป็น ผบ.ทอ.ส้มหล่น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะในยุคนั้นประเทศไทยประสบปัญหาภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะภัยคุกคามบนน่านฟ้าที่ฝ่ายตรงข้ามมีเครื่องบิน MiG-23 ทรงประสิทธิภาพเหนือกว่าเครื่องบิน F-5 กองทัพอากาศไทย

พล.อ.อ.ประพันธ์ จึงเสนอให้มีการจัดซื้อเครื่องบิน F-16 เพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้และป้องกันอธิปไตยของประเทศ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว และเกิดกระแสต่อต้าน เพราะนักวิชาการและประชาชนสนับสนุนเครื่องบิน F-20 จนต้องจัดเวทีดีเบตออกทีวี

โดย พล.อ.อ.ประพันธ์ ให้เหตุผลในการเลือกเครื่องบิน F-16 ว่า ยอมรับในสิ่งที่นักวิชาการและประชาชนได้ให้ความเห็น และเห็นด้วยว่า F-20 เป็นเครื่องบินที่ดี ทันสมัย เนื่องจากเป็นบริษัทเดียวกันที่ผลิต F-5 ซึ่งเราคุ้นเคย ไม่ต้องเปลี่ยนนักบิน ระบบซ่อมบำรุงก็สามารถทดแทนกันได้ และรัฐบาลสหรัฐฯ ก็สนับสนุนให้ซื้อ F-20 และ ไม่ขาย F-16 แต่ ทอ. เป็นกองทัพขนาดเล็ก มีงบประมาณจำกัด และเราต้องใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด

“ถ้าท่านเป็นผม ท่านจะเลือกใช้งบประมาณที่จำกัดซื้อเครื่องบินที่บอกว่าดี แต่อยู่ในแผ่นกระดาษ หรือซื้อเครื่องบินที่พิสูจน์แล้วในการศึกสงครามอย่าง F-16 ว่าดีจริง ”

จึงเป็นที่มาจัดซื้อเครื่องบิน F-16 โดยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ และหลังมีข่าวเผยแพร่ออกไปทำให้ฝ่ายตรงข้ามซึ่งเตรียมก่อสร้างสนามบินเสริมศักยภาพกำลังทางอากาศต้องยุติโครงการทั้งหมด โดยเครื่องบิน F-16 ของ ทอ. ยังใช้ปฏิบัติภารกิจจนถึงปัจจุบัน

และในช่วงที่ประเทศกำลังพัฒนา พล.อ.อ.ประพันธ์ ดำเนินการย้ายกองบัญชาการกองทัพอากาศ จากเดิมตั้งอยู่บริเวณพื้นที่การท่าอากาศยานดอนเมือง มาสร้างตึกแปดแฉก อยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน

ควบคู่กับสร้างสนามกีฬาที่มีมาตรฐานสูง ใกล้เคียงสนามกีฬาศุภชลาศัย ใช้ชื่อว่า สนามกีฬาธูปะเตมีย์ และจัดการแข่งขันกีฬากองทัพอากาศอาเซียน กระชับความสัมพันธ์หมู่มิตรประเทศกลุ่มอาเซียน ปัจจุบันเปิดโรงพยาบาลสนามรักษาผู้ป่วยโควิด-19

รวมถึงริเริ่มโ ครงการก่อสร้างพระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ พระมหาธาตุคู่บารมี ของรัชกาลที่ 9 และ พระพันปีหลวงฯ ที่ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ โรงพยาบาลภูมิพล อาคารคุ้มเกล้า และสโมสรในกองบินต่างๆ

ขณะนั้น แม้ “ไทย” กำลังเผชิญภัยคุกคามนอกประเทศ แต่ศึกในก็ระอุไม่แพ้กัน หลังเกิดกบฎ 19 กันยา นำโดย มนูญกฤต รูปขจร หวังโค่นล้มอำนาจ “พล.อ.เปรม” โดย พล.อ.อ.ประพันธ์ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกจับกุมตัวที่บ้านพัก แต่เมื่อการทำรัฐประหารไม่สำเร็จ ก็ได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

พล.อ.อ.ประพันธ์ เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมทั้งในแวดวงทหาร พลเรือน และงานด้านการเมือง เพราะหลังเกษียณอายุราชการ

ได้รับตำแหน่งสูงในรัฐสภา ทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ยุคนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานรัฐสภา

ในสายตาทหารอากาศ ทั้งคนที่ยังรับราชการ และเกษียณอายุราชการ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “พล.อ.อ.ประพันธ์” เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ฉลาด สมาร์ท และมีภาวะเป็นผู้นำ สามารถพัฒนา ทอ.ถึงขีดสูงสุดในยุคนั้น

อีกทั้งยังเป็น ผบ.ทอ.คนสุดท้ายที่มาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ก่อนเข้าสู่ยุคนักเรียนนายเรืออากาศ สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน 

ในยุคลูกชาย พล.อ.อ.นภาเดช ธูปเตมีย์ ผบ.ทอ.คนที่ 28 จึงเป็นลูกไม้ใต้ต้น ที่ถูกจับตาอย่างน่าสนใจ