ชำแหละ "จุดเด่น-จุดด้อย" แก้โจทย์-โปรโมท "ผู้นำ"
"กรุงเทพธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ 2 นักวิชาการ “ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ “บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสะท้อนถึงจุดแข็ง-จุดด้อยของ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี”
สนามเลือกตั้งครั้งหน้านอกจากจะวัดกันที่ตัวผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่แล้ว ความนิยมของ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” สำคัญไม่แพ้กัน เพราะคะแนนของพรรคการเมืองจะมีส่วนแปรผันไปเป็นคะแนนของ “ผู้สมัคร ส.ส.” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยิ่งในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา แม้ยังไม่มีสัญญาณการยุบสภา แม้ไม่มีวัน ว. เวลาน. ที่จะจัดการเลือกตั้ง แต่ทุกพรรคการเมืองทยอยเปิดตัว “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” เพื่อสร้างเครดิตทางการเมือง ปาดหน้าชิงคะแนนนิยมกันตั้งแต่เนิ่น ๆ
“กรุงเทพธุรกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ 2 นักวิชาการ “ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ “บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสะท้อนถึงจุดแข็ง-จุดอ่อนของ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของแต่ละพรรคการเมือง ที่ชูเป็นจุดขายสำคัญในการเลือกตั้ง โดยพยายามโปรโมทคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถ เพื่อตอบโจทย์ประชาชนให้ได้มากที่สุด
พรรคพลังประชารัฐ
“ยุทธพร” มองว่าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ที่ยืนยันจะส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตของพรรค มีข้อดีที่ยังอยู่ในอำนาจรัฐ มีความได้เปรียบทางการเมือง เพราะถือว่าอยู่ในตำแหน่งมายาวนาน แต่ก็มีจุดอ่อนอยู่ที่ปัญหาด้านความชอบธรรมทางการเมือง ล่าสุดยังมีประเด็นวาระการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ที่ยังมีข้อสงสัยกันอยู่
“พลังประชารัฐควรเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมากกว่า 1 คน เนื่องด้วยไม่แน่ใจอนาคต พล.อ.ประยุทธ์อาจมีปัญหาเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่ง และไม่แน่ใจว่าในอนาคต พล.อ.ประยุทธ์ อาจวางมือทางการเมืองก็เป็นได้ ดังนั้นควรเสนอแคนดิเดตเพิ่มเติม และควรจะต้องเสนอคนที่อยู่นอกกลุ่มอำนาจของ 3 ป. เพื่อสลัดภาพ คสช.”
“บัณฑิต” เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความได้เปรียบตรงที่เป็นรัฐบาล ซึ่งยังมีอำนาจและอิทธิพล แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ใช่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าเมื่อพรรคใช้นโยบายที่ทำมาแล้วในยุค คสช. ก็ถือได้ว่าได้รับความนิยม ขณะเดียวกันภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีลักษณะเป็นผู้นำแบบโบราณ ยังถือเป็นจุดขายอีกแบบหนึ่ง ที่ทำให้คนรู้สึกว่ามีความจริงใจ ตรงไปตรงมา มีความเป็นนักเลงโบราณ
ส่วนจุดอ่อนของพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ที่คนบางกลุ่มต้องการผู้นำอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ลักษณะของ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นแม้ภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกใจคนจำนวนหนึ่ง ก็อาจจะไม่ถูกใจคนอีกจำนวนหนึ่ง แต่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของตนเองอย่างแน่นอน
พรรคประชาธิปัตย์
“ยุทธพร” มองว่า สำหรับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" มีจุดเด่นในแง่ของประสบการณ์ทางการเมืองอย่างยาวนานไม่น้อยกว่า 30 ปีขึ้นไป จึงเป็นข้อได้เปรียบของนายจุรินทร์ ที่มีความเจนจัดทางการเมืองมากกว่าแคนดิเดตนายกฯคนอื่นๆ ขณะเดียวกันนายจุรินทร์ ก็มีจุดอ่อนที่ไม่มีความโดดเด่นทางการเมืองมากนัก เพราะแม้ในประชาธิปัตย์เอง นายจุรินทร์ก็เกือบจะไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค
“บัณฑิต” มองว่า นายจุรินทร์ ไม่มีความโดดเด่นทางการเมือง ที่ผ่านมาถือว่าน่าผิดหวัง ประชาธิปัตย์สูญเสียพื้นที่ฐานเสียงอย่างใน กทม. และภาคใต้ ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งใหม่จึงไม่ง่าย เพราะวันนี้คนของประชาธิปัตย์หลายคนได้เลือกลาออกเพื่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ เวลานี้พรรคประชาธิปัตย์มีผู้นำ แต่คล้ายไม่มีผู้นำ
พรรคภูมิใจไทย
“ยุทธพร” มองว่า "อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.)มีจุดเด่นที่สามารถประสาน 10 ทิศ โดยสามารถที่จะพูดคุยได้กับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านในปัจจุบัน ซึ่งในทางการเมืองนั้นสามารถสลับขั้วได้ตลอดเวลา โดยนายอนุทินจะได้ภาพของความเป็นกลาง แต่ก็มีจุดอ่อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการทำหน้าที่ รมว.สาธารณสุข ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการแก้ปัญหาโรคโควิด-19
ขณะที่ “บัณฑิต” มองว่า นายอนุทินบริหารพรรคภูมิใจไทยได้น่าผิดหวังเช่นกัน เพราะในการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562 นายอนุทิน มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีแบบสบายๆ แต่เมื่อเลือกที่จะไปอยู่กับพลังประชารัฐแล้ว นายอนุทินก็ไม่มีความโดดเด่นมากนัก แถมยังมีเงาของ "พี่ใหญ่" คอยกำหนดทิศทางทางการเมืองเสียมากกว่า
พรรคเพื่อไทย
“ยุทธพร” เห็นว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นว่าจะมีการเสนอใครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคเพื่อไทย(พท.)มีปัญหาเช่นนี้มาโดยตลอดนับตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2549 เนื่องจากเป็นพรรคที่ผูกติดกับนายทักษิณ ชินวัตร ค่อนข้างมาก จึงทำให้ภาพของแคนดิเดตนายกฯสำหรับพรรคเพื่อไทยไม่ชัดเจน
“คิดว่าผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลเป็นคนละฐานกัน คนรุ่นใหม่ไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยมากนัก ขณะที่พรรคเพื่อไทย มีฐานเสียงมั่นคงแข็งแกร่งใน ส.ส.เขต ซึ่งต่างจากพรรคก้าวไกล ดังนั้นสไตล์การเมืองของทั้ง 2 พรรคนี้ก็ไม่เหมือนกัน”
“บัณฑิต” ระบุว่า พรรคเพื่อไทยทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าจะเลือกใคร แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าตอนนี้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ออกไปตั้งพรรคไทยสร้างไทยแล้ว ดังนั้นเวลานี้พรรคเพื่อไทยจึงเหมือนมังกรไม่มีหัว แม้ประชาชนพร้อมจะเลือกพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่รู้ว่าเลือกใคร
“ไม่แน่อาจเป็นไปได้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ การเลือกพรรคเพื่อไทยอาจจะไม่ได้เลือกนายกรัฐมนตรี แต่ผมอาจคาดการณ์เร็วไปก็ได้”
พรรคก้าวไกล
“ยุทธพร” เห็นว่า "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล(ก.ก.) มีข้อดีที่ความสดใหม่ทางการเมือง ซึ่งถือเป็นจุดขายต่อคนรุ่นใหม่ได้ อย่างไรก็ตามนายพิธา ก็ยังมีข้อด้อยที่ขาดประสบการณ์ด้านการบริหารประเทศ แม้จะมีความรู้ความสามารถดีอยู่ แต่นายพิธาเพิ่งเข้าสู่ถนนทางการเมืองยังไม่ถึง 3 ปี จึงเสียเปรียบ หากมีการเปรียบเทียบประสบการณ์ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
“บัณฑิต” มองว่า นายพิธามีพัฒนาการความเป็นผู้นำที่ดีมาก มีจุดเด่นคือความมีวิสัยทัศน์ เคยเป็นนักธุรกิจที่สามารถฟื้นฟูธุรกิจครอบครัวกลับคืนมาได้ มีความเป็นผู้นำสมัยใหม่ที่ตรงกับค่านิยมของคนหนุ่มสาว โดยเป็นคุณสมบัติที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยมี
“คนที่เลือกพรรคก้าวไกลนั้น มีความตั้งใจตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าจะเลือกพรรคก้าวไกล จึงเชื่อว่าคะแนนที่สนับสนุนนายพิธาและพรรคก้าวไกลนั้นจะไม่สวิงไปมา”
ทั้งหมดคือมมุมมองของ “ยุทธพร-บัณฑิต” สองนักวิชาการที่เฝ้าติดตามทุกบริบททางการเมืองของประเทศไทย หลังจากนี้ต้องจับตาว่า “พรรคการเมือง” ที่มีโอกาสจะเสนอชื่อ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” จะปรับเกมชูจุดเด่น-กำจัดจุดอ่อนกันอย่างไร เพื่อลงสู้ศึกการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในครั้งหน้า