“ไพบูลย์โมเดล” หนีตายบัตร 2 ใบ ช่องโหว่ กม. ”ควบรวมพรรค”
"ไพบูลย์โมเดล" ศาลรัฐธรรมนูญรับประกัน ถูกต้องถามกฎหมาย เปิดช่องพรรคเล็กหนีตายบัตร 2 ใบ ช่องโหว่ กม. ”ควบรวมพรรค”
“แล้วมันผิดตรงไหน” เป็นคำพูดของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ที่คนนึกถึงหลังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าเขาไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ในคดียุบพรรคประชาชนปฏิรูป และสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค พปชร. โดยที่สถานะการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยังคงอยู่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าสามารถทำได้ตามกฎหมาย
ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการเลิกดำเนินการของพรรคประชาชนปฏิรูปนั้น ถูกต้อมตามข้อบังคับพรรคและ พ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยหลังยุบพรรคตัวเองแล้ว นายไพบูลย์ จึงเข้าไปสังกัดพรรค พปชร.ภายใน 60 วัน
ส่วนข้อสงสัยที่ว่า นายไพบูลย์ ไม่ได้ถูกจัดให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญรายชื่อ ของพรรค พปชร.ก่อนวันเลือกตั้งนั้น ศาลเห็นว่า ถือเป็นคนกรณีกับการย้ายพรรค เพระการย้ายพรรคของนายไพบูลย์นั้น เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ตอนที่นายไพบูลย์ ได้รับเลือกเป็น ส.ส.แล้ว
แม้กระนั้น ก็ยังเกิดข้อสงสัยหลายประการ โดยเฉพาะข้อสงสัยอันมาจากระบบเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียวที่ใช้กันในปี 2562 ที่ต้องนำคะแนนทั้งหมดมาเฉลี่ยหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้น เมื่อพรรค พปชร.มี คะแนนทั่วประเทศ 8.43 ล้านคะแนน ขณะที่พรรคประชาชนปฏิรูปมี 4.5 หมื่นคะแนน คำถามคือจะต้องเอามารวมกันหรือไม่ ซึ่งถ้ารวมกันแล้ว จำนวน ส.ส.จะลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างไร
พร้อมกันนี้ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับการควบรวบพรรค ที่ไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย หากแต่นายไพบูลย์ อาศัยวิธีการยุบพรรคตัวเอง แล้วเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคอื่น จึงไม่ผิดกระนั้นหรือ
หลังศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า การยุบพรรคตัวเองของนายไพบูลย์ ไม่ผิด สามารถทำได้ จึงเป็นที่จับตา “ไพบูลย์โมเดล”ที่พรรคการเมืองขนาดเล็กอาจใช้เป็นแนวปฏิบัติ ยุบพรรคตัวเองไปซบพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่มีทุนหนากว่า มั่นคงกว่า
โดยขณะนี้ มีพรรคที่เดินตามรอย “ไพบูลย์โมเดล” แล้วอย่างน้อย 1 พรรค นั่นก็คือ พรรคประชาธรรมไทย ที่นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธรรมไทย ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้อนุมัติการเลิกพรรคแล้ว และกำลังรอการประกาศเลิกพรรคอย่างเป็นทางการ ก่อนจะเข้าสังกัดพรรค พปชร. หลังจากที่ได้ตกลงกับ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค เรียบร้อยแล้ว
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี แสดงความเห็นต่อ “ไพบูลย์โมเดล” ว่า ไม่สบายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราต้องป้องกันการทุจริต กระบวนการยุติธรรมต้องให้สังคมยอมรับ ไม่ควรมีการใช้อำนาจที่ไม่ชอบเหนือองค์กรอิสระ แต่ทิศทางหลายอย่างกำลังเดินเหมือน 20 ปีที่ผ่านมา “ไพบูลย์โมเดล” กำลังจะดึงประเทศย้อนหลัง
“อยากให้ท่าน(พล.อ.ประยุทธ์) เตือนสติใครก็ได้ ที่ท่านคิดว่ามีอำนาจเป็นผู้เล่น อย่าดึงประเทศถอยหลังอีกเลย เพราะทิศทางการเดินมันดูคุ้นๆ คล้ายๆ กับระบอบทักษิณ ผมยังเชื่อมั่นในตัวท่านนายก ว่าท่านคิดดีต่อชาติ แต่ชักเริ่มไม่ไว้ใจคนที่กำหนดเกมที่กำลังจะเดินไปสู่ปัญหาใหม่ของประเทศ”
ด้าน “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งข้อสังเกตกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชัดเจนในเชิงนิติศาสตร์ แต่ไม่มองในเชิงรัฐศาสตร์ เพราะกรณีเช่นนี้มีความคล้ายกับการควบรวมพรรคการเมือง ซึ่งถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ
“โดยตรรกะของการเลือกตั้ง ประชาชนที่เลือกพรรคประชาชนปฏิรูป ก็มีเหตุผลหนึ่ง ส่วนผู้ที่เลือกพรรคพลังประชารัฐก็อีกเหตุผลหนึ่ง ดังนั้น เมื่อยุบพรรคของตัวเองก็เท่ากับการทรยศต่อคะแนนเสียงของประชาชนที่เลือกคุณ เพราะเขาอาจจะเลือกคุณด้วยสาเหตุที่ต้องการให้น้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้ ที่เขาไม่เลือกพรรคพลังประชารัฐ เขาอาจจะไม่ชอบ แต่กลับยุบพรรคตัวเองไปรวมกับพรรคอื่น ซึ่งถือว่าขัดกับเจตนารมย์ที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา”
นายสมชัย มองถึง “ไพบูลย์โมเดล” ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น ทำให้พรรคเล็กไม่มีโอกาสได้ ส.ส. ดังนั้นหนทางรอดของพรรคเล็ก จึงต้องรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นการรวมกันเองระหว่างพรรคเล็ก ซึ่งกฎหมายเปิดทางให้ตั้งเป็นพรรคใหม่ได้ หรือไปรวมกับพรรคขนาดกลางและพรรคการเมืองขนาดใหญ่
อดีต กกต. ชี้ว่า แต่การรวมกันเองของพรรคเล็กนั้น แทบไม่ส่งผลให้มีคะแนนเพิ่มขึ้นมาแต่อย่างใด ขณะที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ส.ส.พรรคเล็กมากนัก เพราะมีผู้สมัคร ส.ส.เขตอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังจะไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ ดังนั้น การไปอยู่กับพรรคการเมืองขนาดกลาง จึงอาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของพรรคการเมืองขนาดเล็ก เพราะมีโอกาสได้ลงสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตหรืออาจได้อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่มีโอกาสได้เป็น ส.ส.
“แต่สูตรไพบูลย์โมเดลเป็นการเมืองไทยที่ถอยหลัง เป็นการเมืองแบบศรีธนญชัย ที่กฎหมายห้ามควบรวมพรรค แต่ก็ใช้วิธีการยุบพรรคแล้วย้ายไปอยู่พรรคอื่น ซึ่งสุดท้ายก็จะกลับกลายเป็นว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีอำนาจบารมีและมีเงินก็สามารถครอบงำพรรคเล็กได้ เป็นการย้อนหลังกลับไปสู่การเมืองสมัยที่เคยเป็นปัญหา เหมือนกับย้อนการเมืองกลับไปสู่สมัยทักษิณ ที่พรรคใหญ่ครอบงำพรรคเล็ก” สมชัย สรุป