รองโฆษก ปชป.รำลึก 17 ปี “ตากใบ” ดัน “พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน” ป้องเหตุรุนแรงกลับมาอีก
รองโฆษก “ปชป.” รำลึก 17 ปี “ตากใบ” ชี้ความไว้วางใจจากประชาชนจะกลับมาได้ “กฎหมาย” ต้องได้รับการปรับปรุง ผลักดัน “พ.ร.บ.ซ้อมทรมานฯ” ป้องเหตุการณ์รุนแรงกลับมาอีก
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... กล่าวรำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 หรือ 17 ปีที่แล้วว่า ด้วยสาเหตุจากความไม่ไว้วางใจของรัฐที่มีต่อประชาชน นำไปสู่ความสูญเสียที่ยากจะลืม ผ่านการบังคับใช้กฎหมายภายใต้อำนาจอันขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ควรจะเป็น
อ่านข่าว : "กระทรวง พม." นำร่อง 3 จังหวัด เร่งแก้ปัญหา "ความรุนแรง" ในภูมิภาค
“มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ตากใบ ทั้งจากการปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และถูกกดทับอย่างรุนแรงในระหว่างถูกจับกุมรวม 85 คน นี่ยังไม่นับความสูญเสียจาก “เหตุการณ์กรือเซะ” ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความไม่ไว้วางใจของรัฐต่อชาวบ้านในพื้นที่ นอกเหนือจากนี้ยังมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ และเกิดความหวาดกลัวอีกมากมาย นี่คือความล้มเหลวของการบังคับใช้กฎหมายที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ จนทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเครื่องมือในการตัดสินข้อพิพาท และนำมาซึ่งความโกรธแค้น และรู้สึกไม่เป็นธรรมของชาวบ้านในพื้นที่ และประชาชนทั่วไป” น.ส.ศิริภา กล่าว
รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น นอกเหนือความรับผิดชอบทางด้านคดีความที่ยังไม่มีข้อสรุปในด้านการคืนความเป็นธรรมต่อผู้สูญเสียแล้ว การปรับปรุงด้านกฎหมายให้ตรงกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในลักษณะดังกล่าวขึ้นมาอีก จึงควรต้องเร่งพิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม และกล้าที่จะสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐอย่างเป็นธรรม เพื่อนำความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐกลับคืนมา
“พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และตระหนักถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงในทุก ๆ พื้นที่ของประเทศไทย ที่ควรต้องดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้กฎหมายที่มีความเท่าเทียม เป็นธรรม และอยู่ในหลักสิทธิมนุษยชนสากล จึงมองว่า การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายอันมีความเกี่ยวเนื่องกับการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จะเป็นหนทางสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของความปลอดภัย และสันติสุขในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ อย่างที่พวกเราตั้งใจ และพยายามจัดการปัญหานี้อย่างต่อเนื่องเสมอมา” รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว