“ปชป.”เคาะ“สมชาย หอมลออ”ภาค ปชช.นั่ง กมธ.ร่าง กม.ป้องกัน“ซ้อมทรมาน”
ผลประชุมพรรค “ปชป.” เคาะ “สุทัศน์ เงินหมื่น" พร้อม "สมชาย หอมลออ” ตัวแทนภาคประชาชน นั่ง กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายป้องกัน “ซ้อมทรมาน”
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ที่มีนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ ไว้ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย.63 ว่า ในที่ประชุม ส.ส.ของพรรคได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าวเพื่อกำหนดแนวทางในการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ และได้บรรจุไว้ในระเบียบวาระตามขั้นตอนการประชุมแล้ว จากผลการประชุม ส.ส.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคได้ผลักดันจนมีการเลื่อนระเบียบวาระขึ้นมาพิจารณาก่อน เพื่อจะได้พิจารณาทันก่อนปิดสมัยประชุม เพราะเมื่อรับหลักการในวาระแรก ในวาระที่สองในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) สามารถพิจารณาในช่วงปิดสมัยประชุมได้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวพรรคได้ให้ความสำคัญ ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับภาคประชาชนที่ร่วมผลักดันเรื่องนี้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในที่ประชุมพรรค เห็นตรงกันว่า ควรมีกฎหมายเพื่อป้องกันการกระทำหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมที่ป้องกันการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นกฎหมายที่จะมุ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนซึ่งสอดคล้องกับหลักเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การมีกฎหมายเฉพาะก็เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปราม และมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง และให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ กฎหมายฉบับนี้จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดัน
นายราเมศ กล่าวด้วยว่า พรรคได้มีมติ ส่งนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นภาคประชาชนที่ร่วมติดตามและผลักดันเรื่องนี้ตลอดมา เพื่อให้ภาคส่วนของประชาชนได้เข้าไปมีสิทธิมีเสียงสะท้อนข้อเท็จจริงและร่วมพิจารณาในการร่างกฎหมายต่อไป