"ศักดิ์สยาม"เผย"กรมที่ดิน"มีหนังสือถึง"รฟท."เพิกถอนที่เขากระโดงไม่ได้
"ศักดิ์สยาม" เผย "กรมที่ดิน" มีหนังสือถึง "รฟท." แล้ว ไม่สามารถเพิกถอนที่ดินเขากระโดง ได้ ลั่น ต่อไปไม่ต้องมาบอกเป็นที่พ่อ-พี่ชาย อีก ยัน ทำถูกต้องแล้ว โยนผู้ว่าฯรฟท. ฟ้องศาลปกครอง ปมโฉนดทั้งหมดที่ออกโดยมิชอบ กำชับให้ดำเนินการเหมือนกันทั่วประเทศ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า จากกรณีที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำหนังสือถึงกรมที่ดิน ขอให้พิจารณาดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดิน ในพื้นที่บริเวณเขากระโดงที่ทับซ้อนที่ของการรถไฟฯ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์นั้น โดยกรมที่ดินได้มีหนังสือสอบถามมายัง รฟท.เพิ่มเติม ซึ่งได้ตอบกลับไปเรียบร้อบแล้ว ล่าสุด กรมที่ดิน ได้มีหนังสือถึงรฟท.แล้ว ว่า ไม่สามารถเพิกถอนโฉนดที่ดินในพื้นที่เขากระโดงได้ เนื่องจากรฟท.ไม่มีแผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้างพ.ศ.2464
เมื่อกรมที่ดิน ตอบว่า ไม่สามารถเพิกถอนได้ ยืนยันว่าทำถูกต้องแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ รฟท. ต้องดำเนินการคือ ฟ้องศาลปกครอง กรณีโฉนดที่ดินทั้งหมดที่กรมที่ดินออกมาโดยมิชอบ โดยได้สั่งการไปยังนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯรฟท. ให้ดำเนินการแล้ว
"ผมให้นโยบาย รฟท.ว่าต้องดำเนินการให้ถูกต้อง กรณีมีการออกโฉนดทับที่ดินของการรถไฟฯทั่วประเทศ ต้องดำเนินการเหมือนกันไม่เลือกปฎิบัติ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน ซึ่ง รฟท.จะไม่ละทิ้งสิทธิ์ของประชาชน เมื่อกรมที่ดินมีการออกโฉนดโดยมิชอบ ก็ต้องร่วมกันต่อสู้” นายศักดิ์สยามกล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กรณีที่ดิน เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ประชาชนฟ้องรฟท. แล้วศาลตัดสินให้รฟท.ชนะนั้น เป็นการเอาภาพแผนที่ทหารไปแสดง ซึ่งเกิดขึ้นก่อนปี 2498 เมื่อประมวลกฎหมายที่ดินออกแล้ว จึงอนุญาตให้ประชาชนไปแจ้งสิทธิครอบครอง ซึ่งไม่รู้ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นอะไร ส่วนใหญ่เป็นป่า ประชาชนจึงได้ไปแจ้งสิทธิ์
ส่วนผู้ครอบครองที่ดิน 35 ราย ที่แพ้คดีและถูกเพิกถอนผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ ส.ค.1 เนื่องจากแสดงพิกัดที่ตั้งไม่ได้ จึงไม่มีหลักฐานไปยืนยัน และตามประมวลกฎหมายแพ่ง ผลการพิพากษาไม่มีผลผูกพันต่อกรณีอื่น จึงเป็นเรื่องเฉพาะกรณี แต่ก็มีความพยายามนำมาพูดว่า มีการฟ้องร้องและศาลตัดสินให้รฟท.ชนะไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้หากจะมีการฟ้องร้อง จะต้องฟ้องเป็นรายกรณีและสู้คดีกันใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม
"การที่ให้ รฟท.ไปดำเนินการนั้น ไม่ได้หมายความให้รฟท.ไปฟ้องประชาชน แต่ให้ฟ้องกรมที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ไม่ถูกต้อง และต่อไปจะได้ไม่ต้องมาบอกเป็นที่พ่อผม ที่พี่ชายผม อีกเพราะจะเป็นที่ของใครก็ดำเนินการเหมือนกันหมด หากกรมที่ดินออกโฉนดไม่ถูกต้อง”
ทั้งนี้ รฟท.ได้ทำหนังสือ เลขที่รฟ1/1911/2564 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ถึงอธิบดีกรมที่ดิน เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในพื้นที่บริเวณเขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาและหาข้อยุติกรณีที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ประชาชนกว่า 900 ราย ในที่ดินที่เชื่อว่า เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ
โดยได้มีการต่อสู้ในชั้นศาลมาโดยตลอด เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินรายแปลง จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ. 2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 8027/2561 พิพากษาให้รฟท.ชนะคดีในการพิสูจน์กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงหนึ่ง โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งในคำพิพากษาของศาลฎีการะบุ ว่า “ศาลฎีกาเชื่อข้อเท็จจริงตามแผนที่ที่นำเสนอโดยการรถไฟฯ ว่าพื้นที่ทางแยกบริเวณเขากระโดง ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลาตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 จำนวนเนื้อที่ประมาณ 5,083 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ”