นับถอยหลังเปิดประเทศ ความพร้อมของทุกคน
สิ่งสำคัญที่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประเทศ ต้องรวมถึงความร่วมมือของทุกฝ่ายในการดำเนินการตามแผนควบคุมโรค ตั้งแต่การมีความร่วมของภาครัฐ สถานประกอบการและประชาชน
การประกาศนโยบายเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.2564 เป็นถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของรัฐบาลบนแนวคิดการอยู่ร่วมกับการระบาดของโรคโควิด-19 แน่นอนว่าเป็นไปได้ยากที่การเปิดประเทศจะรอให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันลดลงมาเหลือ 0 เพราะต่อไปโรคดังกล่าวจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนหลายโรคที่เคยเกิดระบาดครั้งใหญ่และมีการควบคุมการระบาดได้ ซึ่งหลังจากนี้คงต้องเตรียมแผนรับมือการเปิดประเทศให้ครบทุกด้านเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
หากมองในแง่จังหวะเวลาเป็นช่วงที่เหมาะสมในการเปิดประเทศในช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว หรือ ไฮซีซัน ที่ยาวต่อเนื่องจากปลายปีไปถึงต้นปี 2565 ซึ่งในสถานการณ์ปกติจะเป็นช่วงที่ภาคการท่องเที่ยวสามารถทำรายได้เต็มที่ แต่ในปี 2563 ที่ทั่วโลกเจอสถานการณ์การระบาดจะเห็นช่วงไฮซีซันที่แปลกตาไปกว่าทุกปี เป็นไฮซีซันที่ปราศจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และถึงแม้ว่าการเดินทางในประเทศเริ่มฟื้นตัวแต่ก็ไม่สามารถชดเชยการท่องเที่ยวจากต่างชาติที่หายไปได้
สิ่งสำคัญที่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดประเทศไม่ได้มีเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมโรค แต่ต้องรวมถึงความร่วมมือของทุกฝ่ายในการดำเนินการตามแผนควบคุมโรค โดยไล่เรียงตั้งแต่การมีความร่วมของภาครัฐ สถานประกอบการและประชาชน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปิดประเทศย่อมมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มตัวแปรในการระบาดมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีหลายประเทศเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและมีการระบาดเพิ่มขึ้นทำให้ต้องปิดประเทศ ดังนั้นจึงเป็นบทเรียนที่รัฐบาลจะต้องเตรียมรับมือส่วนนี้
ในขณะที่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการควบคุมโรคเป็นไกด์ไลน์ให้ดำเนินการ ซึ่งแน่นอนว่าภาครัฐคงไม่สามารถเข้าไปควบคุมหรือกำกับดูแลให้ดำเนินการตามได้ครบถ้วน ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การกำกับดูแลตัวเองให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค และทุกฝ่ายต้องรวมมือกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ที่นำมาสู่การระบาดแต่ละระลอกเหมือนในอดีต เช่น คลัสเตอร์สนามมวย คลัสเตอร์สถานบันเทิง คลัสเตอร์บ่อนการพนัน
อ่านข่าว : สธ.เตรียมพร้อม 5 ด้านรองรับเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้
การเปิดประเทศจึงเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศไทยในการที่จะก้าวข้ามโควิด-19 โดยถ้าดำเนินการได้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะฟื้นผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งหลายประเทศได้วางแผนการฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบโควิด-19 ไว้แล้วถึงแม้จะมีการระบาดซ้ำขึ้นมา แต่ก็ต้องเดินหน้าต่อเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้า และถึงเวลาที่ประเทศไทยจะเข้าสู่บริบทใหม่ทั้งในด้านการกำหนดนโยบายสาธารณะ การดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตในลักษณะนิวนอร์มอล