กมธ.ดีอีเอส ลุยเชียงราย ตรวจโครงข่าย 5G นำร่อง Smart Farming
"กมธ.ดีอีเอส" ลุย “เชียงราย” ตรวจโครงข่าย 5G รองรับโครงการนำร่อง “Smart farming” สร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตรและท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในพื้นที่
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2564 คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นางสาวกัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ นายสยาม หัตถสงเคราะห์ รองประธานกมธ. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกมธ. เป็นต้น พร้อมด้วย น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และตัวแทนจาก กสทช. ลงพื้นที่ศูนย์อบรมผาหมีจังหวัดเชียงราย เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ระบบสมาร์ทฟาร์มโรงเรือนอัจฉริยะ (Smart farming)และโครงการการพัฒนาวิจัยพืชมูลค่าสูง อาทิ แปลงผัก แปลงวานิลลา
ทั้งนี้ นางสาวกัลยา เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้มาดูความพร้อมโครงข่ายต่างๆ เพื่อรองรับ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทยหลังการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ รวมทั้งการทำเกษตรดิจิทัล เนื่องจากการเกษตรถูกดึงเข้าไปเป็นจุดขายหนึ่งของจังหวัดเชียงรายควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ โดยเฉพาะที่ศูนย์อบรมผาหมีเป็นโครงการนำร่องที่ กสทช.ได้ดำเนินการ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น การให้น้ำ ให้ปุ๋ยและการเก็บเกี่ยว ผ่านระบบมือถือ แทนการใช้แรงงานคน และการพยากรณ์อากาศแบบดั่งเดิม เพื่อให้ได้เพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเกิดความแม่นยำ สามารถผลิตสินค้าออกมาได้ตรงความต้องการของผู้บริโภคและตลาดในปริมาณที่พอดี
“การทำเกษตรดิจิทัล เป็นการเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นเกษตรสมัยใหม่ เริ่มต้นตั้งแต่การวางแผนเพาะปลูก การบำรุงให้น้ำไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี 5G โดยเกษตรสมัยใหม่จะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ทั้งทางด้านคุณภาพและปริมาณผลผลิต ที่สำคัญยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยด้วย” นางสาวกัลยา กล่าว
ประธาน กมธ.ดีอีเอส ยอมรับว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้แทนการเกษตรแบบเดิม อาจจะต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง และใช้องค์ความรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อเกษตรกรที่ไม่สามารถเข้าถึง และยังไม่มีความพร้อมเรื่องทุนทรัพย์ เบื้องต้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องจัดวิทยากรเข้าไปอบรมในพื้นที่ และจัดให้ใช้วิธีการทำเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อทดลองเปรียบเทียบการเพาะปลูกว่าคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่
สำหรับศูนย์อบรมผาหมี จังหวัดเชียงราย เป็นโครงการนำร่องที่ กสทช. ได้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อน5G แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบให้ดำเนินโครงการนำร่องในการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ด้านการส่งเสริมเกษตรดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้เทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยี Internet of Thing ในการควบคุมการการเพาะปลูกอัตโนมัติ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ ลดปัญหาความยากจน และสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน