“ทนายบิลลี่” หนุนแก้ ม.112 แจงไม่ร่วมลงชื่อก้าวไกล เหตุพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน
“ทนายบิลลี่” หนุนแก้ ม.112 เป็นสากลมากขึ้น แจงเหตุไม่ลงชื่อร่วมก้าวไกลเห็นแย้งในเนื้อหา"พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน"
นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากเหตุการณ์การชุมนุมของประชาชนเมื่อ 31 ตุลาคม 2564 ที่เรียกร้องต่อคณะตุลาการ เพื่อคืนสิทธิประกันตัว ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง พร้อมเรียกร้องต่อรัฐสภาให้ดำเนินการพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และต่อมาพรรคเพื่อไทยได้ออกจดหมายเปิดผนึก รวมถึงการแถลงการณ์ของทีมโฆษกพรรคเพื่อไทยในการยืนยันเจตนารมณ์พร้อมนำข้อเสนอแก้กฎหมาย 112 และ 116 รวมถึงกฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่วาระการประชุมของสภา ในฐานะที่เป็นพรรคที่มีเสียงสมาชิกมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร ว่า ตนยินดีที่จะร่วมเดินหน้าผลักดันการแก้ไขประมาลกฎหมายอาญา มาตรา112 และมาตรา 116 ให้มีความเป็นสากบมากขึ้นตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่
“กระผมมีความยินดีที่จะเดินหน้าร่วมผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ให้มีความเป็นหลักสากลมากยิ่งขึ้น หากสุดท้ายประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ และสภา ฯ เสียงข้างมากที่เป็นตัวแทนของประชาชนมีฉันทามติร่วมกันเช่นนั้น” นายจิรวัฒน์ กล่าว
นายจิรวัฒน์ กล่าวต่อว่า เมื่อโลกในปัจจุบันถูกเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม กฎหมายก็ต้องถูกปรับแก้ไขให้ทันสมัยได้ด้วยเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 นั้นเป็นการใช้ผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย และหลายคดีสุดท้ายศาลก็ยกฟ้องไปมาก และกฎหมายนี้มักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ โดยเฉพาะฝ่ายรัฐประหารเอามาใช้ในการปราบปรามกับประชาชนผู้เห็นต่าง และประชาชนผู้แสดงสิทธิและเสรีภาพผ่านการชุมนุม เมื่อคนถูกดำเนินคดีจากข้อหามาตรา 112 นี้แล้วต้องเสียทั้งเวลา และเงินทองไปมากในการต่อสู้คดี เพราะมีช่องโหว่ของกฎหมายที่ไม่จำกัดผู้เสียหายในการฟ้องคดี รวมถึงอัตราโทษที่สูงไปมาก
ซึ่งกระผมเคยเสนอให้ลดอัตราโทษลงมา เช่น ไม่เกิน 3 ปี หรือ 5 ปี เพื่อที่จะเข้าหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ศาลรอลงอาญาเอาไว้ได้หากเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกถึงความผิด เกิดจากการวิภาควิจารณ์โดยสุจริต หรือ มีเจตนาที่ดี แต่การแก้ไขกฎหมายนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายหากเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติก็ต้องผ่านทั้งสภาผู้แทน ฯ และวุฒิสภา รวมถึงต้องผ่านด่านการยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก และการเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ครั้งล่าสุดนั้นก็ไม่ได้รับการเข้าบรรจุในระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภา เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6
จึงน่าสนใจว่าเมื่อคราวเปิดสมัยประชุมแล้วจะมีการผลักดันเข้าไปสู่สภาอย่างไร
ทั้งนี้ นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนที่ตนไม่ได้ร่วมลงชื่อกับพรรคก้าวไกลในขณะนั้น เพราะเห็นต่างเรื่องเนื้อหาร่างกฎหมายในการแก้ไข เพราะในขณะนั้นตนเสนอร่างกฎหมายในที่ประชุมพรรคให้คงมาตรา 112 เอาไว้ก่อน แต่ให้ลดบทลงโทษลงมา เพราะเห็นว่าการเมืองต้องเดินไปทีละก้าว จะเปลี่ยนแบบสุดขั้ว หรือพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่าคนยังรักเคารพเทิดทูนสถาบันก็มาก
ในขณะเดียวกันกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็มองมาตรา 112 เป็นลบ เพราะรัฐบาลชอบเล่นการเมืองโดยเอามาตรานี้มาใช้ในทางที่ผิดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายไม่ว่าบทสรุปการแก้ไขมาตรา 112 จะเป็นอย่างไร ในฐานะที่เรามาทำงานในสภาได้เพราะจากประชาชน เมื่อท้ายที่สุดแล้วหากการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นเสียงข้างมากของประชาชน และฉันทามติร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎร เราก็ควรที่จะเดิมตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนไม่ควรขัดขวางการเปลี่ยนแปลง