สรุป 9 ปีคดี “ฟุตซอล” ฉาว ไม่ใช่แค่ “วิรัช” นักการเมืองดังจ่อคิวเพียบ?
พฤติการณ์ของพวกนี้คือ มีนักการเมืองระดับชาติ กับข้าราชการระดับสูงอย่างน้อย 3-4 ราย เข้าไปนัดคุยกันเกี่ยวกับการใช้งบไปสร้างสนามฟุตซอล แต่ตรงนี้หาพยานยืนยันค่อนข้างยาก เพราะส่วนใหญ่นัดคุยกันที่ร้านลาบ หรือร้านอาหาร ทำให้การสาวข้อมูลไปถึงตัวค่อนข้างลำบาก
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (ประธานวิปรัฐบาล) กำลังตกที่นั่งลำบากทางการเมืองอย่างยิ่ง
พลันที่องค์คณะผู้พิพากษาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่ง “ประทับรับฟ้อง” คดีกล่าวหาว่า ทุจริตการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลในพื้นที่ จ.นครราชสีมา รวม 7 สำนวน เสียหายกว่า 4,459 ล้านบาท โดยไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทำให้นายวิรัช พร้อมด้วย “เครือญาติ” ได้แก่ นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พปชร. ภริยานายวิรัช และนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา พปชร. น้องสาวนางทัศนียา ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที
เป็นไปตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 (วิ.อม.) มาตรา 11 ระบุว่า หากศาลประทับรับฟ้องแล้ว ให้จำเลยยุติการปฏิบัติหน้าที่ยกเว้นแต่ศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
อ่านข่าว: “วิรัช-ภริยา-น้องเมีย” หยุดปฏิบัติหน้าที่! ศาลฎีกาฯรับฟ้องคดีสนามฟุตซอล
“คดีฟุตซอลฉาว” ครั้งนี้ มิใช่แค่อยู่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เท่านั้น แต่ลุกลามบานปลายไปยังหลายจังหวัดภาคเหนือ และภาคอีสาน ด้วย ทว่าการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพิ่งมีการชี้มูล “นักการเมืองระดับชาติ” แค่รายของนายวิรัช-ภริยา-น้องภริยา เท่านั้น
แต่ยังมี “บิ๊กเนม” อีกหลายคนรอ “จ่อคิว” อยู่ในสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เช่นเดียวกัน?
กรุงเทพธุรกิจ สรุปไทม์ไลน์ 9 ปีในการตรวจสอบคดีจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลมาให้ทราบ ดังนี้
เรื่องฉาวนี้ถูกเปิดโปงขึ้นเมื่อช่วงปี 2555 ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า โครงการสร้างสนามฟุตซอลให้กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. หลายแห่ง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และภาคเหนือ ใช้วัสดุอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐาน สร้างไปไม่กี่เดือนก็พัง ทำให้ถูกสื่อมวลชน และองค์กรอิสระเข้าไปตรวจสอบอย่างเร่งด่วน
สืบสาวลึกลงไปจนพบว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การใช้อุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐานธรรมดา ๆ แต่เป็นการ “ทุจริตเชิงนโยบาย” ระดับมโหฬาร โยงใยบรรดา “นักการเมือง-ข้าราชการ” ล็อตใหญ่ วงเงินกว่า 4.4 พันล้านบาท
ตามสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูง และกลุ่มเอกชน มีพฤติการณ์ร่วมกันทุจริตเชิงนโยบาย และเป็นตัวการร่วมกันในลักษณะการแบ่งหน้าที่กันทำ ตามบทบาทตามหน้าที่และอำนาจที่แต่ละคนมี และเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกัน และกันในการกระทำความผิด โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชนร่วมดำเนินการอย่างเป็นระบบ และเป็นกระบวนการโดยทุจริต ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 (งบแปรญัตติ) ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอื่น รวมจำนวน 18 จังหวัด วงเงินประมาณ 4,459,420,000 บาท ใน 2 โครงการหลัก หนึ่งในนั้นคือ โครงการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอล รวมถึงมีการวางแผนในการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีกหลายประการ เพื่อให้กลุ่มเอกชนที่เป็นพรรคพวกของตนเองได้เข้าเป็นคู่สัญญา และการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอลไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงตรงตามวัตถุประสงค์
พฤติการณ์ของ ‘วิรัช-ทัศนียา-ทัศนาพร’ ตามสำนวนของ ป.ป.ช. ระบุว่า ในช่วงที่มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2555 นายวิรัช รัตนเศรษฐ นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในขณะนั้น และนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ นายกเทศมนตรี ตำบลห้วยแถลง ขณะนั้น (ปัจจุบันเป็น ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ) ซึ่งเป็นน้องสาวนางทัศนียา รัตนเศรษฐ ได้สั่งการให้พวกของตน เข้าไปประสานกับผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 2 เพื่อจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลให้ โดยเข้าไปครอบงำ บงการการใช้จ่ายงบประมาณในวงเงินดังกล่าวโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมาย
นี่เป็นแค่ “ปฐมบท” ของ “มหากาพย์” คดีทุจริตการก่อสร้างสนามฟุตซอลเท่านั้น เพราะมีการชี้มูลเบื้องต้นแค่พื้นที่ของนายวิรัช รัตนเศรษฐ กับเครือญาติ
ทว่าเมื่อสอบสวนลงลึกลงไปพบว่า บรรดา “กลุ่มเอกชน” ที่เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นตัวละครสำคัญในคดีนี้ ไม่ใช่แค่ “หากิน” อยู่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เท่านั้น แต่พบว่ามีการสาวโยงลึกไปถึงการรับเหมาก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียนในสังกัด สพฐ. อีกหลายจังหวัด ทั้งภาคเหนือ และภาคอีสาน โดยผ่านการ “ดีลงาน” กับ “นักการเมือง” ในพื้นที่
ในส่วนพื้นที่ภาคเหนือ มี “ผู้รับเหมา” อย่างน้อย 3 ราย ที่มีความเชื่อมโยงกับ “อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี” กระทรวงหนึ่ง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยกวาดสัญญาก่อสร้างไปอย่างน้อย 28 แห่ง รวมวงเงินเฉียดหลักร้อยล้านบาท
ภาคอีสาน มีคีย์แมนสำคัญชื่อว่า “ยี” ที่เป็นคนเดินงานดีลกับบรรดาเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 9 แห่ง เกี่ยวพันกับอดีต ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ชื่อดังหลายคน กวาดงานไปหลายสัญญา วงเงินหลายร้อยล้านบาทเช่นเดียวกัน
ประเด็นการไต่สวนเรื่องนี้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2555 โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หลังจากนั้นมีการส่งสำนวนการไต่สวนให้แก่ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อ
ต่อมา ป.ป.ช. มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน แบ่งเป็น 2 คณะหลัก รวมชื่อผู้ถูกกล่าวหาหลายร้อยคน แบ่งเป็น โซนพื้นที่ภาคเหนือ มีอย่างน้อย 15 สำนวน ในพื้นที่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.อุตรดิตถ์ จ.น่าน จ.พะเยา จ.พิษณุโลก และ จ.ตาก
โซนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) มีอีกนับสิบสำนวน อย่างน้อยใน 3 พื้นที่ ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.มุกดาหาร และ จ.อำนาจเจริญ
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ช. เคยระบุพฤติการณ์ในการดีลกันระหว่าง “บิ๊กเนมนักการเมือง” รวมหัวกับ “ข้าราชการ สพฐ.” และ “ข้าราชการท้องถิ่น” ว่า ส่วนใหญ่หารือกันอย่างลับ ๆ ที่ร้านอาหาร ทำให้การสาวข้อมูลค่อนข้างลำบาก เพราะหาพยานหลักฐานยืนยันค่อนข้างยาก
“พฤติการณ์ของพวกนี้คือ มีนักการเมืองระดับชาติ กับข้าราชการระดับสูงอย่างน้อย 3-4 ราย เข้าไปนัดคุยกันเกี่ยวกับการใช้งบไปสร้างสนามฟุตซอล แต่ตรงนี้หาพยานยืนยันค่อนข้างยาก เพราะส่วนใหญ่นัดคุยกันที่ร้านลาบ หรือร้านอาหาร ทำให้การสาวข้อมูลไปถึงตัวค่อนข้างลำบาก แต่สำหรับพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า อดีต ส.ส.ในพื้นที่เกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน” แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ช. เคยระบุไว้
ท้ายที่สุดหลังจากไต่สวนมาหลายปี คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีการชี้มูล “คดีฟุตซอลฉาว” สำนวนแรกในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เมื่อเดือนส.ค. 2562 หลังจากนั้นจึงชี้มูลเพิ่มเติมอีก 6 สำนวนในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยมีตัวละคร “หน้าเดิม” ถูกชี้มูลเช่นเดียวกัน
กระทั่งเมื่อปี 2563 มีการตั้งคณะทำงานร่วมฯ ระหว่างฝ่ายอัยการ และฝ่าย ป.ป.ช. จนมีบทสรุปว่าเห็นควรสั่งฟ้อง ส่งไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เมื่อช่วงต้นปี 2564 กระทั่ง อสส. สั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนสุดท้ายศาลฎีกา “ประทับรับฟ้อง” เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา
เบ็ดเสร็จกินระยะเวลาไปแล้วกว่า 9 ปี รูดม่าน “ฉากแรก” ของ “มหากาพย์” การทุจริตเชิงนโยบาย “คดีฟุตซอลฉาว” ไปได้
แต่ยังเหลือ “นักการเมืองระดับชาติ” อีกหลายคน อยู่ระหว่างการไต่สวนอีกหลายสำนวน ดังนั้นหลังจากนี้ไปพลาดไม่ได้เป็นอันขาดว่า จะมีใครถูกชี้มูลความผิดอีกบ้าง?
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์