พรรคร่วม “ปรับองคาพยพ” รับมือภาวะร้อน “การเมือง”

พรรคร่วม “ปรับองคาพยพ”  รับมือภาวะร้อน “การเมือง”

ความเคลื่อนไหวของ "การเมือง" ในสภาาฯ เมื่อวันประชุมนัดแรก ทั้งการวัดพลัง ด้วย "องค์ประชุม" หรือ การปรับท่าทีของ "เพื่อไทย" ต่อการแก้ ป.อาญา ม.112 แบบ พลิกหน้าพลิกหลัง รวมถึง "12ส.ส." พรรคร่วมรัฐบาล หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำเอา อุณหภูมิการเมืองร้อน ขึ้นมาทันที

         นัดแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่สอง 

 

         เมื่อ 3 พฤศจิกายน ถูกลองของอีกครั้งจาก “พรรคฝ่ายค้าน” หลังเกมไม่กดบัตรแสดงตนถูกนำมาใช้ก่อนลงมติร่าง “กฎหมายคุ้มครองพยานในคดีอาญา”

 

         ทำให้การประชุมสภาฯ ที่เริ่มขึ้นอย่างราบรื่น เรียบร้อย ตอนจบกลายเป็นหนังคนละม้วน

 

         หากย้อนไปดูเกมการเมืองในสภาฯ สมัยที่ผ่านมา มักถูกวัดพลังด้วย “องค์ประชุม” อยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่ใช่ตั้งแต่การเปิดประชุมนัดแรกแบบนี้

พรรคร่วม “ปรับองคาพยพ”  รับมือภาวะร้อน “การเมือง”

         การล่มประชุมตั้งแต่นัดแรก ของสภาฯ จึงส่งผลให้อุณหภูมิการเมืองในห้องประชุมสุริยันคุกรุ่น ไม่แพ้อุณหภูมิใน “วอร์รูม” พรรคร่วมทางการเมือง

         เริ่มจาก “วอร์รูม” หัวหน้า และแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นหัวโต๊ะในช่วงเช้าได้หยิบยก วาระ "การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” มาพูดคุย ถึงแนวโน้มและทิศทางการขับเคลื่อน

 

         เดิมทีเรื่องนี้ ท่าทีของแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ดูเหมือนจะร่วมลงเรือลำเดียวกัน ทั้ง “เพื่อไทย-ก้าวไกล” เห็นได้จากการ "ขานรับ" ข้อเสนอของกลุ่มคณะราษฎร ที่เรียกร้องให้ยกเลิก มาตรา 112

 

         จากแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย เมื่อ 31 ตุลาคม 2564 โดย “ชัยเกษม นิติศิริ” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย ที่ระบุถ้อยคำว่า พรรคเพื่อไทยที่มี ส.ส.มากที่สุดในสภาฯ จะนำร่างแก้ไขกฎหมายเข้าสู่วาระประชุมรัฐสภา

 

         และก่อนหน้านั้น “พรรคก้าวไกล” ยื่นเนื้อหาแก้ไข ทั้งมาตรา 112 และมาตรา 116 รออยู่ก่อนแล้ว

 

         โดยพรรคฝ่ายค้านที่โดดร่วมวงล่าสุดคือ “เสรีรวมไทย” ที่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 แต่เนื้อหาเป็นคนละทางกับข้อเรียกร้องของมวลชน

 

         หลังการประชุม “มติพรรคร่วมฝ่ายค้าน” ได้ผลลัพท์ “ตรงข้าม” คือ ไม่เสนอร่างแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะรอรับลูกจาก “มวลชน” ที่เตรียมเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯ

พรรคร่วม “ปรับองคาพยพ”  รับมือภาวะร้อน “การเมือง”

 

         การปรับท่าทีของ “เพื่อไทย” แบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือถูกนินทาจาก “คนฝ่ายค้าน” ด้วยกันเองว่า “ถ่มน้ำลายขึ้นฟ้า รดหน้าตัวเอง” และถูกค่อนแคะว่า ฟังคำของ “ทักษิณ ชินวัตร” จนลืมจุดยืนที่เป็นเหมือนคำสัญญากับมวลชน ตามแถลงการณ์พรรคเพื่อไทยระบุไว้เมื่อ 31 ตุลาคม ลงนามโดย “ชัยเกษม”

 

         ทำเอา “ก้าวไกล” ต้องโดดเดี่ยว เดินหน้าลุยเอง

 

พรรคร่วม “ปรับองคาพยพ”  รับมือภาวะร้อน “การเมือง”

         กับท่าทีของ “พรรคเพื่อไทย-ทักษิณ” ที่เกิดขึ้น "นักวิชาการสายก้าวหน้า” ประเมินว่า เพราะต้องการประนีประนอมอำนาจ และลดผลกระทบอุปสรรค หาก “เพื่อไทย-ทักษิณ” กลับเข้าสู่อำนาจได้ในอนาคต

         ขณะที่ฝั่ง “พรรครัฐบาล" ต้องเผชิญอุณหภูมิร้อน ไม่ต่างกัน หลังจากที่ ส.ส.ในสังกัด ถูกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

 

         รายล่าสุด คือ “สำลี รักสุทธี” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เหตุถูกร้อง เรื่องคุณสมบัติความเป็น ส.ส. และก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง คือ “วิรัช รัตนเศรษฐ" ส.ส.บัญชีรายชื่อ “ทัศนียา รัตนเศรษฐ” ส.ส.นครราชสีมา “ทัศนาพร เกษเมธีการุณ” ส.ส.นครราชสีมา ในคดีทุจริตสร้างสนามฟุตซอล หลังศาลฏีกานักการเมืองประทับรับฟ้อง

 

         เมื่อรวมเสียง ส.ส.ร่วมรัฐบาลที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ล่าสุด มียอดรวมแล้ว 12 คน ก่อนหน้านั้น ประกอบด้วย “ฉลอง เทอดวีระพงศ์” และ “ภูมิศิษฎ์ คงมี” ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย กรณีเข้าข่ายผิดจริยธรรม ปมเสียบบัตรแทนกัน

 

         พรรคพลังประชารัฐ คือ “ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์” ส.ส.กทม. กรณีผิดจริยธรรม ปมเสียบบัตรแทนกัน “ปารีณา ไกรคุปต์” ส.ส.ราชบุรี กรณีรุกป่า จ.ราชบุรี และ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรณีขาดคุณสมบัติ เพราะต้องโทษจำคุกฐานะ แกนนำ กปปส.​

 

         พรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย “ถาวร เสนเนียม” ส.ส.สงขลา “อิสสระ สมชัย” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ “ชุมพล จุลใส” ส.ส.ชุมพร กรณีขาดคุณสมบัติ เพราะต้องโทษจำคุกฐานะแกนนำ กปปส.

พรรคร่วม “ปรับองคาพยพ”  รับมือภาวะร้อน “การเมือง”

         ทำให้เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลยิ่งลดลง และถือเป็นจุดเสี่ยง เพลี่ยงพล้ำเกมการเมืองในสภาฯ ยามพิจารณากฎหมายรัฐบาลฉบับสำคัญ ตามที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม หวาดหวั่น

 

         ดังนั้นสิ่งที่จะเป็นตัวช่วย “พล.อ.ประยุทธ์” คุมเกมในสภาฯ ได้ ต้องตั้ง “ขุนศึก” ที่ไว้ใจได้ ทำหน้าที่ประธานวิปรัฐบาลแทน “วิรัช”

 

         สถานการณ์ระหว่าง “พรรคร่วมรัฐบาล” และ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ตอนนี้ คือ การปรับองคาพยพ เพื่อตั้งรับ เกมการเมือง ทั้งใน และนอกสภาฯ ที่คุกรุ่น และพร้อมรบ ออกศึกได้ทุกเมื่อ อย่างไม่เสียเปรียบ หรือเพลี่ยงพล้ำ.