อิทธิพล “ประธานวิปรัฐบาล”คุมเกมสภา-ค้ำเก้าอี้ "ประยุทธ์"
“ประธานวิปรัฐบาล” ในยามที่ “สภาหินอ่อน” กลายเป็นสมรภูมิห้ำหั่นทางการเมือง ทั้งจากขั้ว “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล” และ "ขั้วภายในพรรคร่วมรัฐบาล” ถือว่าเป็นตัวละครสำคัญ ที่มีบทบาทสูง ต่อการค้ำยัน "บัลลังก์" อำนาจของ "ประยุทธ์" และ "องคาพยพ"
ประสานงาน บริหารเสียง แบ่งงาน จัดสรรอำนาจ ส.ส. กระทั่งแก้เกมการเมืองในสภาคือ หน้าที่หลักของ "ประธานวิป" หรือ "ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมือง" ไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน หรือแม้แต่วุฒิสภา
ยิ่งในยามที่ "สัปปายะสภาสถาน" ที่มีความหมายถึง สถานที่ประกอบกรรมดี ได้กลายเป็นสมรภูมิห้ำหั่นทางการเมือง ระหว่างขั้ว “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล” และ "ขั้วภายในพรรคร่วมรัฐบาล” หัวขบวนวิปรัฐบาล ยิ่งมีความสำคัญ
สำหรับตำแหน่งนี้ เป็นที่รับรู้กันว่า หาก “นักการเมือง” คนใดพลาดหวังจากเก้าอี้รัฐมนตรี ตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล ย่อมเป็นที่หมายปองในลำดับรองลงมา เพราะถือว่ามีบทบาท และความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตำแหน่งประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ
“ประธานวิปรัฐบาล” งานหลักต้องประสานทั้งรัฐบาล ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ในยามที่มีการประชุมรัฐสภา ก็ต้องประสานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พรรคร่วมฝ่ายค้าน กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงฝ่ายต่างๆ จากองค์กรภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องกับงานนิติบัญญัติ เช่น การเสนอร่างกฎหมายต่างๆ
เมื่อหน้าที่หลักคือ มือประสานงานระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา ในสมัยก่อนผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ “ประธานวิปรัฐบาล” ส่วนใหญ่มักจะเป็น “รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” เพราะรู้ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลเป็นอย่างดี ที่สำคัญหากมีเรื่องสำคัญสามารถแจ้งให้ที่ประชุม ครม.รับทราบได้ทันท่วงที
นอกจากนี้ การประชุม “วิปรัฐบาล” ส่วนใหญ่จะจัดการประชุมที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
ในยุคของ “วิรัช รัตนเศรษฐ” อดีตประธานวิปรัฐบาล ได้หลบไปจัดประชุมวิปรัฐบาลที่อาคารรัฐสภาแทน ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม จะสั่งการให้ “วิปรัฐบาล” กลับมาจัดประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 8 พ.ย.นี้เป็นต้นไป
เพราะ “ประยุทธ์” รู้แล้วว่าการบริหารจัดการงานของ “วิปรัฐบาล” มีความสำคัญมาก ยิ่งเกิดความขัดแย้งขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐ การคุมเสียง-คุมเกมในสภา ยิ่งมีความสำคัญ
โดยเฉพาะไทม์มิ่งที่จะมีการส่งกฎหมายการเงิน-กฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณาในสภา ต้องแน่ใจว่าเสียงโหวตของ “ขั้วรัฐบาล” จะไม่แตกแถว ไม่ตีตกกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ
หากกฎหมายการเงิน-กฎหมายสำคัญ-พ.ร.ก. ถูกตีตกในวาระแรก “รัฐบาล” จำเป็นต้องรับผิดชอบ โดยมีเพียง 2 ทางเลือก 1.ลาออก 2.ยุบสภา เพียงเท่านั้น
ดังนั้น “ประธานวิปรัฐบาล”ในฐานะมือประสานสิบทิศ ต้องเป็นคนที่ “นายกรัฐมนตรี” ไว้วางใจได้มาก
ขณะเดียวกัน ประธานวิปรัฐบาลยังกุมอำนาจบริหารจัดการ แบ่งงานให้ ส.ส.ในสภา โดยเฉพาะการจัดสรรโควตาเก้าอี้ “กรรมาธิการ” ทั้ง 35 คณะ “ประธานวิปรัฐบาล” ถือว่ามีอิทธิพลอย่างสูง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเก้าอี้ใน "กรรมาธิการ" บางคณะที่เป็นที่หมายปองของ “ส.ส.” อย่างมาก เพราะสามารถ ต่อยอดงานบนดิน-งานใต้ดินได้ การแย่งเก้าอี้โควตาจึงเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย เนื่องจากมีกรรมาธิการไม่กี่คณะที่เป็น “ขุมทรัพย์” ของนักเลือกตั้ง
แถมในทุกปียังต้องมีการจัดสรรเก้าอี้ “กรรมาธิการงบประมาณ” ที่เปรียบเสมือนชิ้นปลามัน บรรดาส.ส.ต่างเปิดศึกแย่งชิงให้ตัวเอง-คนในเครือข่าย ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี
ซึ่งอำนาจของ “กรรมาธิการงบประมาณ” สามารถเสนอตัดลดงบประมาณ เพิ่มเติมงบประมาณ หรือแปรญัตติให้จัดสรรงบประมาณให้ลงไปในพื้นที่ ที่ต้องการได้ อำนาจดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นของคดีทุจริตทางการเมืองหลายคดี
ดังนั้นประธานวิปรัฐบาล จึงมีความสำคัญทั้งการประสานงานกับรัฐบาล คุมเกมในสภาไม่ให้กระทบต่อการเสนอกฎหมาย และการดำเนินงานของรัฐบาล และมีความสำคัญในการจัดสรรอำนาจผ่านเก้าอี้กรรมาธิการให้กับบรรดาส.ส.
“ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” รองประธานวิปรัฐบาล ระบุถึงคุณลักษณะต้องพิเศษของประธานวิปรัฐบาลว่า การตัดสินใจว่าจะนำร่างกฎหมายญัตติใดๆ เข้าสู่การพิจารณาของสภาในแต่ละสัปดาห์ ดังนั้นต้องเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์งานสภาพอสมควร อีกทั้งต้องเป็นคนที่ชี้แจง ทำความเข้าใจ และโน้มน้าวเพื่อนสมาชิกให้เห็นคล้อยตามได้
“นอกจากนั้นต้องเป็นคนที่ประนีประนอมต่อรองได้ เพราะต้องยอมรับว่างานบางอย่างในสภา เช่น ร่างกฎหมายบางฉบับต้องล็อบบี้ฝ่ายต่างๆ เพื่อให้งานสามารถเดินหน้าได้ลุล่วง” ชินวรณ์ กล่าว
ดังนั้นสถานการณ์การเมืองช่วงเทอมปลายของสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีความแหลมคมอย่างมาก ชินวรณ์มองว่าคนที่ทำหน้าที่ประธานวิปรัฐบาลต้อง “ทันเกม”
“การเมืองในสภา มีการแบ่งฝ่าย แยกขั้วอย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นโลกของโซเชียลมีเดีย ดังนั้นประธานวิป รัฐบาล ต้องเป็นผู้สื่อสารกับทุกฝ่ายได้ อีกทั้งการเมืองปัจจุบันมีความซับซ้อน เพราะในการแบ่งฝ่ายในขั้วรัฐบาล หรือขั้วฝ่ายค้าน ยังพบการแตกย่อยของกลุ่มในขั้วต่างๆ อีก และยังพบการใช้เทคนิคไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมในการพิจารณาวาระที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันอีก ทั้งที่ในอดีตการไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมหรือ Walk out จะถูกนำมาใช้ เมื่อเสียงข้างมากไม่รับฟังเสียงข้างน้อย หรือต้องการวีโต้กฎหมายบางฉบับ” ชินวรณ์ ระบุ
ฉะนั้นเมื่อไฟท์บังคับให้ พล.อ.ประยุทธ์เลือกประธานวิปรัฐบาลคนใหม่จึงถูกมองว่าต้องเป็นคนที่ไว้ใจ แต่ความไว้ใจนั้นไม่ใช่แค่ว่า "จะทำตามคำสั่ง” ได้เท่านั้น เพราะกระบวนการทำงานในสภา มีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากกว่านั้น โดยเฉพาะการ "หามิตร" มากกว่า "สร้างศัตรู"
เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เลือก “นิโรธ สุนทรเลขา” ส.ส.นครสวรรค์ เข้ามารับหน้าที่ “ประธานวิปรัฐบาล” จึงต้องรอวัดฝีมือว่าจะสามารถค้ำยันเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์