"วุฒิสาร" เสนอ4ข้อ ปรับ "ประชาธิปไตยไทย" ให้รอดจากวิกฤตภูมิทัศน์ใหม่
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ชี้ ภูมิทัศน์ใหม่ เป็นวิกฤต-กระทบประชาธิปไตย แนะทางรอด 4 ข้อ ให้ปรับตัว มองปัญหาประชาธิปไตยไทย ไม่เคารพบุคคลอื่น-การเมืองไทยไร้สัจจะ
นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า แสดงปาฐกถาปิดในการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 23 ประจำปี 2564 หัวข้อ ประชาธิปไตยในภูมิทัศน์ใหม่ ในสาระสำคัญตอนหนึ่งโดยยอมรับว่าภูมิทัศน์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ท้าทายความเป็นประชาธิปไตย และถูกตั้งคำถาม ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ที่บางประเทศพบการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความไม่เสมอภาค เกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดหนี้สิน ภาคธุรกิจล้มละลาย รวมถึงระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถแก้ไขความไม่สงบได้ อย่างไรก็ดีระบอบประชาธิปไตยต้องการผู้นำที่ปรับตัวในวิธีการทำงาน ภาครัฐ สถาบันทางการเมืองปรับตัวได้ และระบอบประชาธิปไตยที่ต้องปรับตัว โดยมี
ข้อเสนอ 4 ประการเพื่อระบอบประชาธิปไตยต้องปรับตัวเพื่อนำไปสู่เป้าหมายใหม่ คือ
1. ต้องทำให้ประชาธิปไตยไปสู่เป้าหมายของสังคมที่ดีขึ้น คือ ทำให้สังคมมีความมั่งคั่ง มีระบบเศรษฐกิจเติบโตยั่งยืน สร้างและเปิดโอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม นอกจากนั้นต้องมีการแข่งขันเสรี เป็นธรรม
“การเมืองตามระบอบประชาธิปไตยต้องทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่เสมอภาค สังคมเข้มแข็ง ปลอดภัย โดยสังคมที่เข้มแข็ง ไม่ใช่หมายถึงสังคมที่ไม่มีปัญหา แต่หมายถึงสังคมที่มีปัญหาแล้วสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นประชาธิปไตยต้องทำให้คนในสังคมมีคุณภาพ รวมถึงสร้างความยุติธรรม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ โดยผมมองว่าประเทศไทยต้องทบทวนและหาทางออกเพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวให้ได้” นายวุฒิสาร กล่าว
2. ระบอบประชาธิปไตยต้องเปิดกว้างให้ความเห็นที่แตกต่างมีที่ยืน และสร้างพื้นที่ปลอดภัย ยอมรับฟังซึ่งกันและกัน และจำเป็นต้องมีกลไกเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือสังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะมีกฎหมายที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างถูกต้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หรือกฎหมายประชามติ เพื่อให้เครื่องมือและโอกาสกับประชาชนต่อการตัดสินในความเห็นที่แตกต่าง นอกจากนั้นต้องลดเงื่อนไขและข้อจำกัดต่อการรวมตัวกันของประชาชนที่ต้องการแสดงเจตจำนงทางการเมือง
3. ปรับโครงสร้าง ความสัมพันธ์ สถาบันการเมืองให้สมดุล ทั้งการปรับระบบบริหารภาครัฐ ให้การเมืองแก้ปัญหาด้วยตนเอง
4. สร้างความมั่นคงและคุณค่าให้กับประชาธิปไตย โดยให้สถาบันต่างๆ ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรม รวมถึงเคารพต่อความมีเสรีภาพ ซึ่งเป็นสากลของประชาธิปไตย รวมถึงต้องมีเสรีภาพอย่างรับผิดชอบและเสรีภาพของบุคคลอื่น นอกจากนั้นต้อง เคารพความเท่าเทียม หลากหลายในชุดความคิดที่แตกต่างกันสังคมประชาธิปไตย คือ การเคารพ ให้เกียรติ และรับฟังทุกฝ่าย และทุกฝ่ายต้องรับฟังคนอื่น
"สังคมประชาธิปไตย โดยเฉพาะการเมือง ต้องยึดคำว่าสัจจะ คือพูดความจริง สังคมนี้มีปัญหามาก กับเรื่องของการพูดความจริง และความจริงที่ถูกบิดเบือน ดังนั้นต้องสร้างคุณค่า วิธีคิดของทุกฝ่าย ทั้ง นักการเมือง ข้าราชการ ประชาชนทุกคนในสังคมให้มี คุณค่าประชาธิปไตย ให้มากขึ้น รวมถึงการ สร้างสังคมประชาธิปไตย ที่มีความสุข ภูมิทัศน์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลง จำเป็นให้ประชาธิปไตยของไทยไม่เป็นประชาธิปไตยที่กัดกินตัวเอง คือ ประชาธิปไตยในรูปแบบ แต่คนเสื่อมศรัทธา รวมถึงประชาธิปไตยต้องปรับตัวได้ ทั้งนี้ยอมรับว่าภูมิทัศน์ใหม่มีผลกระทบต่อประชาธิปไตย ถือเป็นวิฤต แต่ผมเชื่อว่าอยู่ที่ทุกภาคส่วนจะร่วมมือเพื่อใช้ในโอกาสในวิกฤตดังกล่าวทำให้ประชาธิปไตยปรับตัว” นายวุฒิสาร กล่าว.