ปิดฉาก “ม็อบราษฎร” ศาล รธน.ชี้ 3 “แกนนำ” ล้มล้างการปกครอง-เซาะกร่อนสถาบันฯ
ปิดฉาก “ม็อบราษฎร” ! ศาล รธน.ชี้ “อานนท์-ไมค์-รุ้ง” ปราศรัย “ล้มล้างการปกครอง” ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ร่วมถึง “กลุ่มองค์กร” เคลื่อนไหวลักษณะเดียวกัน ชี้พฤติการณ์ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” อ้างเสรีภาพไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคายละเมิดสิทธิคนอื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย กรณีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของกลุ่มแกนนำแนวร่วม “ม็อบราษฎร” ได้แก่ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์) และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) กรณีปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ในการชุมนุมเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
โดยบรรยากาศที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความเข้มงวด มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่หลายจุด โดยเป็นไปตามประกาศของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564 ที่ให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการฯ เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย ระหว่างเวลา 00.01-23.59 นาฬิกา ในวันที่ 10 พ.ย. 2564 อย่างไรก็ดียังมีมวลชนออกมาร่วมฟังผลการพิจารณาอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์
ก่อนศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายอานนท์ นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายภาณุพงศ์ และ น.ส.ปนัสยา ได้ขอออกจากห้องการพิจารณาคดี เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้องขอให้เปิดการไต่สวน ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า ได้พิจารณาพยานเอกสารหลักฐานทุกอย่างครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว
ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ในการปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ในวันที่ 10 ส.ค. 2563 และพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ต่อเนื่องหลังจากนั้น แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพโดยมีเจตนาซ่อนเร้นในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่เป็นการปฏิรูป และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต มีการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นแล้ว แต่ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมทั้งกลุ่มลักษณะองค์กรเครือข่าย ยังกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาด้วยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง เซาะกร่อนบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรียกร้องโจมตีสถาบันฯแบบสาธารณะ อ้างสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนคนอื่นด้วย
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง