ปฐมบท "ล้มล้างการปกครอง" 1 ปีจับ "161 คดีม็อบ 3 นิ้ว"
แกนนำ "ม็อบราษฎร" พร้อม แนวร่วม ถูกแจ้งข้อหา ม.112 ไม่ต่ำกว่า 157 คน ใน 161 คดี หลังออกมาเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันและยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเฉพาะคำปราศรัย 10 ส.ค. 2563 ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีคำพิพากษาว่า "ล้มล้างการปกครอง"
ก่อนที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะมีคำวินิจฉัยการกระทำของ 3 แกนนำ “ม็อบราษฎร” ได้แก่ อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง และ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กรณีชุมนุมปราศรัยเมื่อ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เรียกร้องปฏิรูป 10 ข้อ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการล้มล้างการปกครอง และสั่งให้เลิกกระทำการดังกล่าวในอนาคตตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
ทั้ง “ 3 แกนนำ” ล้วนถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ม.112) อยู่ก่อนแล้ว โดย “อานนท์ และ ไมค์” อยู่ระหว่างการถูกคุมขัง แม้ทนายจะยืนประกันขอปล่อยตัวชั่วคราวหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตพร้อมให้เหตุผลกรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ขณะที่ “รุ้ง ปนัสยา” เพิ่งขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา
“ม.112” กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง จากผลพวงคำวินิจฉัย “ศาลรัฐธรรมนูญ” แม้แต่นักวิชาการจากหลายสถาบันเห็นตรงกันว่า จะเป็น “บรรทัดฐาน” ใครก็ตามไปทำในลักษณะเดียวกัน ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ขณะที่ “23 องค์กรนักศึกษา” ออกแถลงการณ์ ปฏิเสธกระบวนการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรม และคำวินิจฉัยของศาล โดยขอยืนยันว่า 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นข้อเสนอที่จะทำให้ สถาบันพระมหากษัตริย์ของราชอาณาจักรไทยคงอยู่ สถาพรในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสง่างาม สมกับพระเกียรติยศที่สมเด็จบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าทรงดำรงไว้
ความพยายามปฏิรูปสถาบัน และยกเลิก ม.112 มีมาตั้งแต่อดีต หลังเกิดข้อครหาว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย และยังเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ทำให้เกิด “รัฐประหาร” ส่งผลให้กลุ่มเคลื่อนไหวถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาดังกล่าวกันถ้วนหน้า บ้างก็ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ บ้างก็ยังถูกคุมขังเนื่องจากบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรง
เช่นเดียวกับ “อานนท์ -ไมค์ -รุ้ง” และแนวร่วมที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่เคลื่อนไหวผลักดันให้มีการปฏิรูปสถาบัน และยกเลิก ม.112 อย่างต่อเนื่อง ผ่านคำปราศรัยที่ค่อนข้างรุนแรง และหมิ่นเหม่ในความรู้สึกของคนอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่ในขณะนั้นก็ไม่มีการดำเนินคดี
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้เหตุผลไว้เมื่อ 21 มิ.ย.2563
“อยากให้คนไทยสำนึกในพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงไม่ให้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาดำเนินคดีกับผู้ที่ล่วงละเมิดสถาบันฯ”
จากนั้นเพียงแค่ 5 เดือน “ม.112” ถูกนำกลับมาบังคับใช้อีกครั้ง หลัง “พล.อ.ประยุทธ์” เห็นว่า การละลุ้มอล่วยไม่ทำให้ “ม็อบราษฎร” หยุดพฤติกรรมลักษณะเข้าข่ายล่วงละเมิด อีกทั้งยังต้องเคารพเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องการนำกฎหมายฉบับดังกล่าวมาบังคับใช้
โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ช่วยเหลือและรวบรวมสถิติผู้ถูกดำเนินคดีนี้ตั้งแต่เริ่ม มีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 24 พ.ย.2563 – 11 พ.ย.2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตาม ม. 112 แล้วทั้งสิ้น อย่างน้อย 157 คน ใน 161 คดี (นับคดีที่มีผู้ได้รับหมายเรียก แต่ยังไม่ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาด้วย)
ในจำนวนคดีทั้งหมด แยกเป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 79 คดี คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 10 คดี คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 6 คดี คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 1 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา
พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา แยกเป็นคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 34 คดี คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย พิมพ์หนังสือ แปะสติ๊กเกอร์ เป็นต้น จำนวน 38 คดี คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 79 คดี และยังไม่ทราบสาเหตุ 10 คดี และผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 13 ราย
ศาลมีการออกหมายจับ อย่างน้อย 38 หมายจับ (กรณี “เดฟ ชยพล” นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับ แต่ต่อมาตำรวจไปขอยกเลิกหมายจับ และไม่ได้ดำเนินคดี) และยังมีการจับตามหมายจับเก่าตั้งแต่ช่วงปี 2559 อย่างน้อย 2 หมายจับ คดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว จำนวน 58 คดี
แกนนำถูกดำเนินคดีทั้งหมด ดังนี้ 1. “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ 21 คดี 2. อานนท์ นำภา 14 คดี 3.ภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี 4.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 9 คดี 5.เบนจา อะปัญ 6 คดี 6.ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 4 คดี 7.พรหมศร วีระธรรมจารี 4 คดี 8.ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 4 คดี 9.ชูเกียรติ แสงวงค์ 4 คดี 10.วรรณวลี ธรรมสัตยา 4 คดี 11.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี
ส่งผลให้บรรดาแกนนำม็อบต้องเข้าๆ ออกๆ เรือนจำ ไม่สามารถนำการเคลื่อนไหวได้ แต่ผลพวงจากคำวินิจฉัย “ศาลรัฐธรรมนูญ” คดีล่าสุดนี้ กำลังส่งผลต่อ “ม็อบราษฎร” และแนวร่วมที่กลับมาชุมนุมอีกระลอก โดยมีบรรทัดฐานศาลรัฐธรรมนูญเป็นข้อจำกัด จึงต้องจับตาว่ามวลชนที่ไร้แกนนำจะใช้สันติวิธีทะลุเพดานกันอย่างไร