"ประวิตร"ลงพื้นที่ชุมพร-สุราษฎร์เปิด"ศูนย์จัดการน้ำส่วนหน้าฯ" แก้ท่วม
"ประวิตร" ควง "ธรรมนัส-นฤมล" ลงพื้นที่ชุมพร เยี่ยมปชช. ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม สั่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่ง ซ่อมแซมบ้านเรือน เยียวยา "กอนช." คาดยังมีพื้นที่เสี่ยง ฝนตกหนัก พร้อมเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ ที่ สุราษฎร์ธานี
ที่ห้องประชุมศาลากลาง จังหวัดชุมพร พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วย พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานยุทธศาสตร์พรรค ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าเลขาธิการ พปชร. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค นำคณะลงพื้นที่ตรวจราชการและให้กำลังใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วม พร้อมทั้งติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่
โดยมีนายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดคอยให้การต้อนรับอย่างพร้อมเพรียง และ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวรายงานโครงสร้างอำนาจหน้าที่คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ และ นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวรายงานคาดการณ์สภาพอากาศในพื้นที่ภาคใต้บริหารสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และเลขาธิการกรมป้องกันและกรมบรรเทาสาธารณภัย บรรยายสรุปสถานการณ์อุทุกภัย และแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหา โดยขณะนี้ ชุมพร มีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหลังสวนอำเภอสวี และอำเภอท่าแซะ รวม 15 ตำบล 66 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,876 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 4 ราย ระดับน้ำลดลง
พล.อ.ประวิตรฯ มอบนโยบายว่า ขณะนี้ภาคใต้ของประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว โดยในช่วงที่ผ่านมา อิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้มีสถานการณ์ฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่หลายจังหวัด ซึ่ง จ.ชุมพร เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบกับสถานการณ์อุทกภัย โดยเฉพาะบริเวณ อ.หลังสวน อ.สวี อ.ท่าแซะ อ.ทุ่งตะโก และ อ.เมือง โดยรัฐบาลมีความห่วงใยและตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย ในวันนี้จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดบูรณาการความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือ ซ่อมแซมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของผู้ประสบภัย รวมทั้งเร่งสำรวจความเสียหาย ฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด
นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำและการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจาก กอนช. ได้คาดการณ์ว่า ยังคงมีพื้นที่เสี่ยงในบริเวณภาคใต้ซึ่งจะมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ของความจุ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลายแห่ง เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสูงสุดในการรับมือกับสถานการณ์น้ำ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ และจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อติดตาม ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและอำนวยการหน่วยงานในพื้นที่ ในการบริหารจัดการมวลน้ำช่วงฤดูฝนภาคใต้ปี 2564 ให้เกิดความเป็นเอกภาพและสามารถคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว พร้อมมอบหมายให้ทุกหน่วยงานใช้ข้อมูลจากศูนย์บริหารจัดการน้ำฯ ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำหลาก เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป
จากนั้น พล.อ.ประวิตร พร้อมคณะเดินทางไปมอบถุงยังชีพ จำนวน 2,000 ชุด ให้กับผู้ประสบภัยที่โรงเรียนอนุบาลสวี จ.ชุมพร เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วม ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้พบประชาชนและรับฟังปัญหาความเดือดร้อนเพื่อนำไปพิจารณาประสานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที
ก่อนที่ พล.อ.ประวิตร จะเดินทางต่อไปยังห้องประชุมตาปี ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 ตำบลหนองไทร อ.พุนพิน จ. สุราษฎร์ธานี โดยมีนาย นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมและแผนเผชิญเหตุให้การช่วยเหลือประชาชน ที่ประสบภัย ตลอด 24 โดยมีเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศ ทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สรุปแนวทางการบริหารจัดการน้ำของจ.สุราษฎร์ธานี ขณะที่ ปภ.รายงานว่า สุราษฎร์ธานี มีน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดอนสัก อำเภอท่าชนะ อำเภอเกาะสมุย และอำเภอกาญจนดิษฐ์ รวม 7 ตำบล 12 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 373 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศจากทุกหน่วยงานใช้คาดการณ์และวิเคราะห์สภาพอากาศปริมาณลำน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำ พื้นที่น้ำหลาก และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในภาคใต้ รวมทั้งอำนวยการร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (บกปก.ก.) เพื่อแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ และเพื่อแจ้งเตือนประชาชนรับมือได้ทันท่วงที
สำหรับศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ดังกล่าว มีรองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.) ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ